ASUS ROG Phone 3 เป็นมือถือที่เกิดมาเพื่อชาวเกมเมอร์โดยเฉพาะ ใช้แนวคิดในการออกแบบทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ในแบบ PC Gamer แล้วถ่ายทอดลงในมือถือ ผมมั่นใจว่าอ่านจบแล้วเหล่าเกมเมอร์จะต้องอยากได้ ASUS ROG Phone 3 มาไว้ครอบครองอย่างแน่นอน
Unbox
ก่อนจะมาดูตัวเครื่อง เราเริ่มกันที่กล่องดีไซน์พิเศษทรงปริซึมฐานสามเหลี่ยม เมื่อเปิดกล่องออกมาจะเจอตัวเครื่องวางอยู่ พร้อมอุปกรณ์อื่นๆ ที่ซ่อนอยู่ด้านล่าง ดังนี้
- ตัวเครื่อง
- พัดลม AeroActive Cooler 3
- จุกยางสำรอง
- เข็มจิ้มซิม
- หัวชาร์จ 30W
- สายชาร์จ
- เคส
- Dongle แปลงหูฟัง
- สติ๊กเกอร์

เข็มจิ้มซิมดีไซน์พิเศษ สวยงามมากๆ

เคสที่แถมมาเป็นเคสแข็งดีไซน์พิเศษที่ช่วยเปิดเผยดีไซน์ต่างๆ ของตัวเครื่อง พร้อมถนอมเครื่องไปในตัว

สำหรับสายชาร์จที่แถมมาเป็นสายถักด้วย
ดีไซน์
ดีไซน์ของ ASUS ROG Phone 3 ยังคงเอกลักษณ์การดีไซน์ของรุ่นก่อนๆ ไว้ แต่ออกแบบให้เรียบง่ายยิ่งกว่าเดิม ฝาหลังลดความซับซ้อนให้เป็นกระจกแผ่นเดียว แต่เล่นกับเส้นสายของที่เหลือบเป็นสายรุ้ง

ตรงกลางฝาหลังเป็นที่อยู่ของไฟ RGB สัญลักษณ์ ROG ที่เป็นจุดเด่นของรุ่นนี้

บริเวณระบายความร้อนด้านหลัง AERODYNAMIC SYSTEM ถูกปิดทับด้วยกระจกฝาหลังทั้งหมด โดยบริเวณนั้นทำเป็นกระจกใสมองเข้าไปเห็นดีไซน์ใต้ฝาหลังได้ ส่วนรูระบายความร้อนด้านหลังก็ถูกลดขนาดให้เล็กลง

ฝั่งขวาของตัวเครื่องจะเป็นที่อยู่ของปุ่ม Power และปุ่มเพิ่มลดเสียง และที่ขอบทั้งสองข้างที่มีสัญลักษณ์สลักอยู่เป็นที่อยู่ของ Air-Trigger

ฝั่งซ้ายเป็นที่อยู่ของถาดใส่ซิม รองรับซิมคู่ และช่องชาร์จช่องที่สอง สามารถเสียบสาย USB-C เข้าไปตรงๆ ในช่องสีดำได้เลย และเป็นพอร์ตสำหรับเชื่อมต่อกับอุปกรณ์เสริมต่างๆ ของตัวเครื่องได้ด้วย ตรงนี้ตามปกติจะมีจุกยางปิดอยู่กันจุกเข้า แต่หากใช้งานบ่อยสามารถถอดออกได้

ด้านล่างเป็นที่อยู่ของไมโครโฟนและช่องชาร์จไฟ USB-C

สัมผัสแรกต้องบอกว่าเครื่องนี้ “หนักมาก” เมื่อเทียบกับมือถือทั่วๆ ไป โดยมีน้ำหนักถึง 240 กรัม
หน้าจอ
หน้าจอของ ASUS ROG Phone 3 เป็นหน้าจอ Super AMOLED ขนาด 6.59 นิ้ว ความละเอียด Full HD+ แต่มีรีเฟรชเรทสูงถึง 144 Hz ซึ่งสูงที่สุดในโลกของมือถือ และเทียบชั้นกับ Gaming monitor ในปัจจุบันได้เลย ซึ่งรีเฟรชเรทสูงจะทำให้การเคลื่อนไหวเป็นไปอย่างลื่นไหลสวยงาม ไม่พลาดการเคลื่อนไหวแม้เพียงเล็กน้อยของศัตรู

ด้วยการที่เป็นจอ AMOLED จึงสามารถตั้ง Always on Display ได้ด้วย ซึ่ง ASUS ออกแบบมาได้สวยมากๆ

อีกสิ่งที่สำคัญต่อการเล่นเกมคือการตอบสนองต่อการทัชสกรีน ซึ่งตัวนี้ให้ Touch sampling มาถึง 270 Hz มี Touch latency เพียง 25 ms. และ Slide latency เพียง 18 ms เวลาทัชก็จะลื่นติดนิ้ว ไม่มีพลาด

และด้วยการเป็นมือถือเพื่อเล่นเกม เลยเลือกใช้หน้าจอเต็มที่ไม่มีติ่งหรือการเจาะรูใดๆ มาบดบังสายตา แถมมีไฟ LED สำหรับแจ้งเตือนด้วย
มาดูที่ซอฟตแวร์ ตัวนี้ ASUS ได้ใส่ซอฟต์แวร์ Splendid สำหรับตั้งค่าสีมาให้ด้วย โดยสามารถตั้งตามโปรไฟล์ที่ให้มาหรือจะตั้งเองก็ได้ โดยสามารถตั้งอุณหภูมิและค่าความอิ่มตัวของสีได้
เสียง
ASUS ROG Phone 3 มาพร้อมลำโพงคู่ด้านหน้า ให้เสียงแบบสเตอริโอ ซึ่งข้อดีของลำโพงแบบนี้คือเวลาเล่นเกมแล้วไม่ต้องกลัวนิ้วมือไปอุดรูลำโพง

แน่นอนว่ามาพร้อมซอฟต์แวร์ปรับแต่งเสียง Audio Wizard แถมมีเทคโนโลยีอย่าง Dolby Atmos และ DIRAC ด้วย ซึ่งเสียงลำโพงของ ASUS ROG Phone 3 ดีจริงๆ แยกมิติซ้ายขวาชัดเจน แต่น่าเสียดายที่ไม่มีช่องหูฟัง 3.5 มม. มาให้แล้ว ถ้าจะใช้หูฟังต้องใช้หัวแปลงที่แถมมาในกล่อง หรือติดชุดพัดลม Active Cooling
การเชื่อมต่อ
ด้วยชิปเซ็ต Qualcomm Snapdragon 865 ทำให้เจ้า ASUS ROG Phone 3 มาพร้อมการเชื่อมต่อไร้สายเทคโนโลยีใหม่ล่าสุด ไม่ว่าจะเป็น Wi-Fi 6 และ Bluetooth 5.1
การเชื่อมต่อ Wi-Fi สามารถเชื่อมต่อแบบ Dual-band Wi-Fi คือเชื่อมต่อเครือข่าย 5GHz และ 2.4GHz พร้อมๆ กันได้เลย เพื่อเพิ่มเสถียรภาพในการใช้งานและเพิ่มแบนด์วิดท์
อีกฟีเจอร์คือ Hotspot สามารถปล่อยเป็น Wi-Fi 6 ได้ด้วย เหมาะสำหรับยุค 5G ที่อินเทอร์เน็ตมือถือสามารถทำความเร็วสูงได้
สำหรับซิมการ์ด รองรับการใช้งาน 2 ซิมแบบ 4G+5G
ประสิทธิภาพเพื่อการเล่นเกม
เรามาเข้าสู่ใจความสำคัญของ ASUS ROG Phone 3 กันดีกว่า นั่นก็คือการเล่นเกมนั่นเอง มาดูสเปคคร่าวๆ กันก่อนครับ
- ชิปเซ็ต Qualcomm Snapdragon 865
- แรม 12 GB LPDDR5
- พื้นที่เก็บข้อมูล 512GB UFS3.1
และส่วนที่เหนือกว่าสเปคคือการพัฒนาซอฟต์แวร์และระบบระบายความร้อน ที่ ASUS เน้นให้เครื่องยังสามารถทำงานได้เต็มประสิทธิภาพแม้ใช้งานเป็นเวลานาน ไม่เกิดประสิทธิภาพตกเพราะความร้อนสะสม
แถมยังมีเจ้าพัดลม Active Cooling มาติดเพิ่มเพื่อช่วยในการระบายความร้อนได้ด้วย

ไม่ใช่แค่นั้น เจ้าพัดลมตัวนี้ยังทำตัวเป็นขาตั้งได้ด้วยนะ ในกรณีที่เราใช้จอยเล่นเกม หรือเปิดหนังดู ตัวนี้คือสะดวกมากๆ

สำหรับฝั่งซอฟต์แวร์ ASUS ได้ทำการใส่ X-mode เข้ามา ซึ่งเป็นโหมดที่เร่งประสิทธิภาพเครื่องเพื่อการเล่นเกมโดยเฉพาะ โดยเข้าได้จากไอคอนบนหน้าจอ พอกดปุ๊บ วอลล์เปเปอร์ก็จะเปลี่ยนเป็นสีแดงเพื่อความแรงทันที

เมื่อเข้ามาจะเจอหน้าที่แสดงรายละเอียดต่างๆ ของเครื่องอย่างละเอียด ทั้งการใช้งานซีพียู, จีพียู อุณหภูมิของเครื่องที่จุดต่างๆ พื้นที่ที่เหลือ จนถึงปริมาณแบตเตอรี่ที่เหลือ

ในหน้านี้เราสามารถตั้งค่าแสงไฟ RGB ที่โลโก้ด้านหลังได้ด้วยว่าจะให้แสดงผลแบบไหน (เปิดค้าง, กะพริบ, Breathing, ไล่สี)

อีกตัวที่น่าสนใจคือ Game Genie เป็นซอฟต์แวร์เสริมในการเล่นเกม เปิดได้โดยลากนิ้วจากขอบจอเวลาเปิดเกม ซึ่งตรงนี้จะมีฟีเจอร์เด็ดๆ สำหรับเกมเมอร์เพียบ ตั้งแต่ฟีเจอร์พื้นฐานอย่างปิดการแจ้งเตือน เร่งความเร็วเครื่อง ล็อกแสงหน้าจอ ฟีเจอร์เด่นๆ อีกตัวคือ Data Only ที่ปิดการโทรเข้าไปเลย ไม่ใช่แค่ไม่แจ้งเตือน

อีกฟีเจอร์ที่หาในยี่ห้ออื่นยากมากๆ คือ real-time info ที่จะแสดงรายละเอียดของเครื่องแบบ Overlay บนหน้าจอให้ดูข้อมูลได้ตลอดเวลา

สามารถเปิดศูนย์เล็งหรือ Cross-hair ไว้บนหน้าจอ เหมาะสำหรับคนที่เล่นเกม FPS สามารถใช้ศูนย์เล็งตัวนี้แทนการกดเล็งในเกมได้ ทำให้ไม่ต้องกดเล็งทุกครั้งที่ยิง สามารถตั้ง macro ปุ่มได้ด้วย
และฟีเจอร์เด็ดที่ไม่พูดถึงไม่ได้คือ Air-Trigger ที่อยู่ตรงขอบเครื่อง ทำงานเหมือนปุ่ม L และ R บนจอยนั่นเอง ที่สำคัญคือสามารถวางพักนิ้วได้ เหมือนวางนิ้วบนปุ่มเวลาใช้จอยจริงๆ ไม่ต้องยกนิ้วลอยตลอดเวลา การสั่งงานไม่ใช่แค่กดเท่านั้น การสไลด์นิ้วหรือ swipe ก็ใช้ได้ แล้วแต่ความถนัดของคนเลย และแต่ละข้างเราสามารถแตกเป็น 2 ปุ่มได้ด้วย เท่ากับว่าเรามี Air-Trigger ทั้งหมด 4 ปุ่มเลยทีเดียว

แล้วยังมีฟีเจอร์อย่างการเขย่าเครื่องแทนการทัชเพิ่มเข้ามาอีก เช่น ตั้งให้การเขย่าเครื่องเป็นการรีโหลดกระสุน อะไรแบบนี้
Scenario Profile
อีกฟีเจอร์เพื่อการเล่นเกม โดยตัวนี้สามารถตั้งค่าประสิทธิภาพเครื่องสำหรับแต่ละเกมแยกได้เลย ไม่ว่าจะเป็นความไวในการทัชสกรีน ปรับกราฟิก รีเฟรชเรท จนถึง Overclock เครื่องได้
กล้อง
สำหรับมือถือเล่นเกมมักจะไม่เน้นด้านกล้องมากนัก แต่ถือว่า ASUS เองก็ไม่ได้ทอดทิ้งแต่อย่างใด ใส่กล้องมาให้ถึง 3 ตัว ประกอบด้วย
- 64 MP, f/1.8, 26mm (wide), 1/1.72″, 0.8µm, PDAF
- 13 MP, f/2.4, 125˚, 11mm (ultrawide)
- 5 MP, f/2.0, (macro)
ด้านฟีเจอร์ต่างๆ ก็ใส่มาแบบไม่น้อยหน้า มีทั้งระบบ AI ที่ตรวจจับ Scene และปรับตั้งค่ากล้องให้เหมาะสมโดยอัตโนมัติ มีโหมด Portrait สำหรับถ่ายภาพแบบหน้าชัดหลังเบลอ Night mode สำหรับถ่ายรูปในที่แสงน้อย มีโหมดโปรทั้งภาพนิ่งและวิดีโอ ส่วนกล้องหน้า สามารถถ่ายภาพแบบหน้าชัดหลังเบลอได้ด้วย

ไมโครโฟน
ไมโครโฟนเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในการเล่นเกม โดยเฉพาะเกมยุคปัจจุบันที่เน้น Multiplayer และต้องติดต่อสื่อสารกับผู้เล่นอื่น ซึ่ง ASUS ROG Phone 3 ให้ไมโครโฟนมาถึง 4 ตัว ซึ่งจากการใช้งาน คนที่เล่นด้วยต่างบอกว่าเสียงชัดมาก
แบตเตอรี่
สำหรับแบตเตอรี่ มาพร้อมกับความจุ 6,000 mAh ชาร์จเร็ว 30 วัตต์ให้มาพร้อมในกล่องเลย
ประสบการณ์ใช้งานจริง
ต้องบอกว่าตัวผมเองชอบ ASUS ROG Phone มาตั้งแต่รุ่นแรกแล้ว และมาในรุ่นที่ 3 ยังคงคอนเซ็ปต์ที่สุดของการเล่นเกมไว้เหมือนเดิม มั่นใจได้ว่าซื้อรุ่นนี้ไปแล้วเล่นเกมได้ทุกเกม ลื่นๆ อย่างแน่นอน ส่วนที่ปรับปรุงเพิ่มเติมเข้ามาก็ไม่ธรรมดา ทั้ง Air-Trigger ที่แตกเป็น 2 ปุ่มด้วย และพัดลม Active AirCooler 3 ที่มีขาตั้งในตัวเป็นสิ่งที่อยากได้มานานแล้วครับ และอีกสิ่งหนึ่งที่ทึ่งมากๆ คือกล้องหลังที่แม้จะเป็นมือถือเกมมิ่งแต่ก็จัดฟีเจอร์กล้องมาให้แบบครบถ้วนแบบไม่ขี้เหร่เลย
อุปกรณ์เสริม
มาดูอุปกรณ์เสริมสำหรับ ASUS ROG Phone 3 กันครับ
TwinView Dock 3
ตัวนี้เป็นหน้าจอที่ 2 แต่ไม่ต้องกลัวว่าจอจะไม่สวย เพราะสเปคหน้าจอนั้นเหมือนหน้าจอหลักแบบเป๊ะๆ ทำให้สามารถใช้งาน 2 หน้าจอได้ โดยอาจจะเอาไว้เปิดดู Walk-through ต่างๆ ระหว่างเล่น และถ้าใช้งานกับเกมที่รองรับละก็จะใช้งานได้ทั้ง 2 หน้าจอเลย อย่างเช่น Asphalt 9 จะใช้หน้าจอที่ 2 เป็นหน้าแสดงแผนที่ให้
ROG Clip
เป็นอแดปเตอร์สำหรับหนีบจอยคอนโทรลเลอร์เข้ากับมือถือเพื่อไว้ใช้ควบคุมเกม รองรับทั้งจอ XBOX, PS4 รวมถึงจอย Google Stadia ด้วย
LIGHTING ARMOR CASE
เป็นเคสมือถือที่เพิ่มเอฟเฟกต์เป็นแสงไฟโลโก้ ROG ที่ด้านหลังเครื่อง โดยแสงไฟจะซิงค์ตามไฟ RGB ที่ฝาหลังด้วย
ฟิล์มกระจก
มือถือถ้าไม่ใช่รุ่นยอดนิยมในตลาดมักจะหาฟิล์มกระจกคุณภาพดีใช้ยาก ทาง ASUS เลยมีฟิล์มกระจกแบบ Official ให้เลือกใช้ด้วย มั่นใจได้เรื่องคุณภาพ ทัชลื่น เว้นช่องเซ็นเซอร์ต่างๆ ไว้อย่างครบถ้วน
