เรื่องย่อ
นับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ที่สมาชิกทีมฟุตบอลหมูป่าอะคาเดมี จำนวน 12 คน และโค้ช 1 คน ชักชวนกันเข้าไปสำรวจภายในถ้ำหลวงและเกิดภัยธรรมชาติจนไม่สามารถออกมาได้ อันเป็นที่มาของการร่วมแรงร่วมใจในปฏิบัติการการช่วยเหลือเมื่อปี 2561 ผ่านมา 4 ปี ก็มีภาพยนตร์ รวมถึงสารคดีที่เล่าเรื่องนี้ในมุมต่างๆ ออกมานับเท่าที่เผยแพร่วงกว้างก็ 3 เรื่องเข้าไปแล้ว คือ The Cave (นางนอน) ของทอม วอลเลอร์, The Rescue ภาพยนตร์สารคดีของช่อง National Geographic และเรื่องนี้ Thirteen Lives (สิบสามชีวิต) กำกับโดย รอน ฮาวเวิร์ด (ซึ่งจริงๆ มีภาพยนตร์สั้นอีก 1 เรื่อง แต่ฉายจำกัดโรงแค่ที่ลิโด้ จึงไม่ได้นับรวมเข้ามา)
ความรู้สึกหลังชม
Thirteen Lives เป็นภาพยนตร์ที่เมื่อได้ยินข่าวในทีแรกว่าทำฉายในโรง แต่พอได้ฉายจริงๆ สิทธิ์ในการฉายตกไปอยู่ในมือของสตรีมมิ่งที่เพิ่งเปิดบริการอย่างเป็นทางการในไทยอย่าง Amazon Prime จึงไม่แปลกใจที่เมื่อผู้เขียนได้เข้าไปดูในโรงภาพยนตร์ในรอบสื่อแล้วรู้สึกถึงมุมกล้องทุกๆ ช็อตเหมาะสมกับการรับชมในโรงภาพยนตร์มากกว่าดูบนจอทีวีที่บ้าน
หนังเล่าในมุมของทีมกู้ภัยเป็นหลัก โดยผ่านตัวละคร วิกโก มอร์เทนเซน (Rick Stanton) และจอห์น โวลันเธน (Colin Farrel) ผู้เชี่ยวชาญด้านการดำน้ำในถ้ำชาวอังกฤษ โดยช่วงแรกจะค่อยๆ เล่าเหตุการณ์ตามที่เห็นในเทรลเลอร์ว่าติดถ้ำยังไง จะไปทำอะไรกันในถ้ำจนพอที่จะให้คนดูเข้าใจเซทติ้งเรื่องแล้ว จากนั้นพอเครื่องติดหนังก็เปลี่ยนความเร็วในการเล่า จนทำให้ไม่รู้สึกว่า 2 ชั่วโมง 40 นาทีกว่าๆ มันยาวแต่อย่างใด
หนังใช้เทคนิคในการถ่ายทำที่เจาะ close-up เข้าหานักแสดงในฉากดำน้ำอยู่ตลอดเวลา จึงทำให้สัมผัสได้ถึงความรู้สึกอึดอัด ความกดดันเมื่อลงดำน้ำในถ้ำได้เป็นอย่างดี (เพื่อนผู้เขียนที่ได้รับชมด้วยกัน ซึ่งเคยเรียนดำน้ำมาบ้างก็บอกว่าตอนที่ลงน้ำไปแล้วมีเสียงหายใจดังฟืดแรงๆ นี่ ภาพ flashback ตอนเริ่มหัดดำน้ำแล้วใหม่ๆ แล้วยังกลัวอยู่ เข้ามาในหัวจนนั่งเกร็งแทบทั้งเรื่องเลย)
หนังสนุก เล่าออกมาได้ลุ้นระทึกจนนึกข้อติแบบจังๆ ไม่ได้ แต่จริงๆ เรียกว่าน่าเสียดายดีกว่า ตรงที่นักแสดงฝั่งชาวไทยที่มีจำนวนเยอะ และน่าจะมีบทบาทเด่นๆ อย่าง หมอกานต์ (ตู่ – ภพธร สุนธรญาณกิจ, ตัวละครโดนเปลี่ยนชื่อจากหมอภาคย์) และจ่าแซม (เวียร์ – ศุกลวัฒน์ คณารศ) กลับเห็นบทบาทค่อนข้างน้อยกว่าที่คิด แต่ไม่ใช่ไม่ดี ฉากของจ่าแซมก็กดดันพอสมควรอยู่นะ ตัวละครชาวไทยที่บทเด่นๆ น่าจะเป็นผู้ว่าณรงศักดิ์ (ปู – สหจักร บุญธนกิจ) ที่ต้องรับเผือกร้อนในการประสานงาน และเป็นคีย์แมนในการตัดสินใจต่างๆ แม้ว่าจะหมดวาระในการทำงานที่เชียงรายไปแล้วก็ตาม
ด้านบรรยากาศโดยรวมของหนัง วัฒนธรรมพื้นบ้านต่างๆ ที่ปรากฏในหนังนั้น ผู้เขียนสามารถเล่าได้แค่ในมุมมองคนภาคกลางว่าค่อนข้างสมจริงจนไม่คิดว่าเป็นภาพยนตร์ที่กำกับโดยชาวต่างชาติ มีการทำการบ้านมาเป็นอย่างดีไม่ว่าจะฉากพิธีกรรมขอขมาเจ้าแม่ การนิมนต์พระมาสวดให้พร หรืออื่นๆ บรรยากาศโดยรอบก็ดูไม่แตกต่างแม้ว่าจะถ่ายทำที่ไทยเพียงบางส่วน และส่วนใหญ่ถ่ายทำกันที่ออสเตรเลีย เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19