เป็นที่รู้กันดีในหมู่ผู้ที่เลี้ยงปลากัดว่าปลากัดเป็นเพื่อนตัวน้อยที่มีความฉลาด สีสันและโครงสร้างสวยงาม เลี้ยงง่าย ฉะนั้นจึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่เหล่าผู้เลี้ยงทั้งหลายจะรักและผูกพันจนอยากให้พวกเขามีลูก ๆ ที่น่ารักออกมาให้เราได้ชื่นชมดูแลในรุ่นต่อ ๆ ไปอีก แต่พอขึ้นชื่อว่าปลากัด แน่นอนว่าทั้งตัวผู้และตัวเมียแต่เดิมก็จะมีนิสัยก้าวร้าว หวงถิ่น และไม่อยู่ร่วมเหลี่ยมเดียวกับปลากัดตัวอื่น ๆ อยู่แล้ว ฉะนั้นการเพาะปลากัดจึงเป็นเรื่องที่มือใหม่ควรทำความเข้าใจก่อนจับพวกเขาลงเพาะ มิฉะนั้นพวกเขาอาจกัดกันจนได้รับบาดแผลใหญ่ และกลายเป็นบทเรียนของผู้เพาะเลี้ยงเองได้นั่นเองค่ะ
ผู้เขียนคือหนึ่งในคนที่อยากจะเพาะพันธุ์ปลากัดที่เลี้ยงไว้ เนื่องจากพวกเขาฉลาดและเป็นสายพันธุ์ที่ผู้เขียนรักและถูกใจเป็นอย่างมาก (Halfmoon Bigears Betta) และถึงแม้เราจะอ่านบทความเพื่อเตรียมตัวมาแล้วมากมาย แต่พออยู่ ณ สถานการณ์จริงมันก็ไม่เหมือนกับที่อ่านจำมาในหัว เพราะเนื่องจากปลากัดแต่ละตัวนั้นมีพฤติกรรมส่วนตัวที่แตกต่างกัน ฉะนั้นการเพาะพันธุ์เองของผู้เขียนในครั้งนี้ จึงไม่สำเร็จอย่างไม่ต้องสงสัย และผู้เขียนก็ได้ทำการสอบถามไปยังร้านที่ผู้เขียนไว้วางใจอย่าง Goldenbetta และ Rockyjej Betta ในเรื่องของปัญหาเกี่ยวกับการเพาะปลากัดที่ผู้เขียนเจอ และแน่นอนว่าก็ได้รับคำแนะนำและเทคนิคดี ๆ มาปรับใช้
ในวันนี้ผู้เขียนจึงอยากขอรวบรวมคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญมาสรุปและถ่ายทอดประสบการณ์ส่วนตัวออกมาให้ผู้อ่านทุกท่านได้อ่านกันนะคะ เชื่อมาก ๆ ว่ามีประโยชน์อย่างยิ่ง โดยเฉพาะกับผู้เลี้ยงมือใหม่ที่ไม่เคยมีประสบการณ์เช่นเดียวกับผู้เขียนค่ะ หากบทความนี้จะทำให้ผู้เลี้ยงมือใหม่ได้อะไรดี ๆ ติดไม้ติดมือกันไป รวมถึงช่วยลดความบาดเจ็บ ฉีกขาด ของเจ้าเพื่อนตัวน้อยของเราลงได้บ้าง ก็จะเป็นความปิติใจอย่างยิ่งค่ะ
ควรเริ่มต้นเพาะพันธุ์ปลากัดอย่างไร ?

ขอขอบคุณภาพจาก https://www.facebook.com/gsambill
สำหรับการเริ่มต้นเพาะพันธุ์ปลากัดที่ถูกต้อง ควรเริ่มดังนี้
- คัดเลือกพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์ ที่มีลักษณะดี ความสมบูรณ์เพศและพร้อมผสมพันธุ์ ในกรณีที่เพาะเลี้ยงเองง่าย ๆ ในบ้าน ไม่ได้จะขาย หากคุณพอใจจะใช้ตัวใด ลักษณะใดก็สามารถเพาะได้เลยค่ะ (แต่อย่าลืมว่าไม่ควรทิ้งลูกปลาตกเกรดลงในแหล่งน้ำธรรมชาตินะคะ)
- บางตำราอาจใช้การขุนก่อนลงเพาะ ราว 1 สัปดาห์ เพื่อให้พ่อปลาและแม่ปลามีความแข็งแรงมากเท่าที่จะเป็นไปได้ สำหรับปลากัดที่มีความพร้อมผสมพันธุ์นั้นจะสังเกตได้จาก ตัวเมียจะมีไข่นำเป็นจุดขาว ๆ อมเหลืองขุ่นใต้ท้องยื่นออกมา อีกทั้งท้องจะเป่ง เต่งไปด้วยไข่ รวมถึงมีลายบั้งสีเทา ๆ ดำ ๆ ขวางขึ้นมา (คล้ายลวดลายของม้าลายแต่ไม่ชัดเท่า) ส่วนตัวผู้จะก่อหวอดเก่ง โดยหวอดที่ดีจะไม่ค่อยแตกและเรียงตัวกันอย่างแนบแน่นสวยงาม เป็นการบ่งบอกว่าตัวผู้ตัวนี้น้ำลายเหนียวมากพอที่จะวางไข่หรือให้ลูกปลากัดเกาะหวอดได้โดยไม่ตกลงมา
- ในกรณีที่ต้องการเทียบปลากัด ให้นำปลากัดมาใส่เหลี่ยมข้างกัน และเปิดให้พวกเขามองเห็นกันตลอดเวลา จะ 7 วัน 1 เดือน หรือ 1 ปี ก็แล้วแต่เทคนิคส่วนบุคคล เพื่อเป็นการให้ปลากัดทั้งสองตัวสร้างความคุ้นเคยกัน และให้ตัวเมียลดความก้าวร้าวลงมา
- ในกรณีที่ไม่ได้เทียบปลากัดแต่เอาลงเพาะเลยก็สามารถทำได้อีกเช่นกัน ขออนุญาตยกตัวอย่างร้าน Goldenbetta เนื่องจากทางร้านทำการเพาะขายเป็นจำนวนมาก การเทียบปลาจึงเป็นการเสียเวลา บวกกับทางร้านมีความชำนาญมากเพราะพัฒนาสายพันธุ์ปลากัดมาหลายสิบปีแล้ว จึงสามารถเพาะได้สำเร็จเป็นส่วนมาก
- ภาชนะที่ใช้ในการเพาะพันธุ์ปลากัด จะเป็นเหลี่ยมขนาด 18, 20 ,22 ,24 นิ้ว ก็ได้ หรือจะใช้ขันอาบน้ำ ถังสีก็ได้ แล้วแต่ความสะดวก
- เติมน้ำลงในภาชนะที่ใช้ในการเพาะพันธุ์ปลากัด โดยหากเพาะในเหลี่ยมที่มีความสูง 8 นิ้วขึ้นไป ระดับน้ำควรอยู่ที่ประมาณ 4.5 นิ้ว – 6 นิ้ว ที่ไม่ควรเติมน้ำสูงมากเพราะเป็นการช่วยร่นระยะเวลาการลงไปเก็บไข่ของพ่อปลาและแม่ปลา
- ใส่ใบหูกวาง หรือน้ำ Tannic ในอัตราส่วนที่เหมาะสม รวมถึงใส่ พืชน้ำ และไม้น้ำ เพื่อให้ปลาได้มีที่หลบและสร้างบรรยากาศ บางตำราก็ให้ใส่ สีเสียด รำข้าว หรือ Procillus และ เกลือทะเล
- การวางภาชนะเพาะพันธุ์ปลากัดควรอยู่ในที่ที่อุณหภูมิค่อนข้างคงที่ อุณหภูมิน้ำประมาณ 26-28 องศานั้นจะกำลังดี รวมถึงไม่ควรอยู่ในที่ที่มีอุณหภูมิเหวี่ยงเกินไป ยกตัวอย่างเช่นในห้องแอร์ ควรวางในที่ที่มีอากาศถ่ายเท เช่น บริเวณนอกบ้าน มีแดดมีสวนเบา ๆ
- ควรวางภาชนะเพาะพันธุ์ในที่ที่คนไม่พลุกพล่าน เพื่อป้องกันปลากัดตกใจหรือตื่นขาคน เพราะหากปลากัดตื่นตกใจ อาจทำให้พ่อปลากินไข่เข้าไปหมดเลยก็ได้ เนื่องจากเขาจะคิดว่ามีภัย และคิดว่าสถานที่แห่งนี้ไม่เหมาะแก่การให้ลูกเขาเติบโตขึ้นมา
- ปลากัดเป็นปลาขี้ระแวงและขี้ตกใจ ควรมีอะไรปิดภาชนะเพาะพันธุ์เพื่อกันสิ่งแปลกปลอมหรือแมลงตกลงไป ยิ่งใครสามารถใช้ตู้แบบมีฝาปิดได้ก็จะยิ่งดี เพื่อเป็นการกันสปอร์เชื้อรา แบคทีเรีย เชื้อโรค หรือสิ่งสกปรกต่าง ๆ ที่จะปลิวเข้ามาในภาชนะ
- ปล่อยตัวผู้ลงก่อนเพื่อให้เขาไปสร้างหวอดรอ แต่จะใส่พร้อมกันทั้งตัวผู้และตัวเมียเลยก็ได้ อันนี้ก็แล้วแต่เทคนิคส่วนบุคคลได้เลยนะคะ ปลากัดมีความสามารถที่น่าทึ่งอย่างหนึ่งคือหากใส่ไปพร้อมกัน และเมื่อใกล้เวลาต้องผสมพันธุ์ ตัวผู้เขาจะรู้ตัวว่าเขาจะต้องสร้างบ้านให้ลูกเขาอยู่ เขาจะสามารถเร่งสร้างหวอดก่อนจะถึงเวลาของการวางไข่ได้ค่ะ
- เวลาในการปล่อยปลากัดลงผสมพันธุ์แบบใส่ตัวผู้ลงไปก่อนคือช่วงเช้า เพื่อให้เขาไปสร้างหวอดรอ และจะทำการใส่ตัวเมียลงไปในตอนเย็น 17:00 – 18:00 หลังจากนั้นทั้งคู่จะทำการรัดกันในช่วงเช้า หรือสาย และจะไปเสร็จอีกทีช่วงบ่าย
- เวลาในการปล่อยปลากัดลงผสมพันธุ์แบบใส่ทั้งตัวผู้และตัวเมียลงไปพร้อมกันคือช่วงเย็น 17:00 – 18:00 หลังจากนั้นทั้งคู่จะทำการรัดกันในช่วงเช้า หรือสาย และจะไปเสร็จอีกทีช่วงบ่ายอีกเช่นกัน
- เหตุผลที่ควรเป็นช่วงเย็น เนื่องจากต่อให้เราใส่พวกเขาลงไปช่วงเช้า อย่างไรเขาก็จะไปรัดกันอีกในช่วงเช้าหรือสายของอีกวันอยู่ดี
- การปล่อยพวกเขาลงรัดในช่วงเช้า จะทำให้ปลากัดบอบช้ำ เพราะอย่างไรปลากัดก็จะไล่กันทั้งวันและไปรัดกันอีกทีในช่วงเช้าหรือสายของอีกวันดังที่กล่าวไว้ข้างต้นอยู่ดี ส่วนตัวเราพลาดที่ใส่พวกเขาในช่วงเช้า (06:30) เพราะคิดว่าเช้ามืดคงจะไม่เป็นอะไร แต่กลายเป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาดและน่าเสียใจอย่างที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการมีพ่อพันธุ์เป็นปลากัดหูช้างหางยาวแบบเรา พวกเขาทั้งคู่ไล่ฟัดกันขาดวิ่น เป็นที่น่าเสียใจเมื่อได้มอง
ส่วนเรื่องสายพันธุ์ต่าง ๆ ของปลากัด สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่บทความนี้เลยค่ะ ทำความรู้จักปลากัด สัตว์เลี้ยงตัวน้อยที่คู่บ้านคนไทยมาแต่โบราณ
ขั้นตอนในการผสมพันธุ์ของปลากัด
สำหรับขั้นตอนในการผสมพันธุ์ของปลากัดจะมีรายละเอียดดังนี้
- ก่อนการผสมพันธุ์ ปลากัดตัวผู้จะเริ่มสร้างหวอด โดยสร้างสาร สเตอรอยด์กลูโคโรไนด์ (steroid glucuronide) เพื่อการดึงดูดทางเพศและช่วยกระตุ้นให้ปลากัดตัวเมียไข่สุก ขณะเดียวกันเมื่อปลากัดตัวเมียพร้อมที่จะผสมพันธุ์ก็จะปล่อยสารมีกลิ่นที่มีชื่อว่า โอโดริเฟอรัสฟีโรโมน (odoriferous pheromone) เพื่อเป็นการส่งสัญญาณให้ปลากัดตัวผู้
- เมื่อปลากัดตัวผู้สร้างหวอดเสร็จ และทั้งคู่พร้อมสำหรับการผสมพันธุ์ ปลากัดตัวผู้จะไล่ต้อนปลากัดเพศเมียให้ไปอยู่ใต้หวอด หลังจากนั้นปลากัดตัวผู้จะงอตัวเป็นรูปตัว U หรือตัว S เพื่อเป็นการรัดปลากัดตัวเมียให้ไข่หลุดออกมา หลังจากนั้นจึงปล่อยน้ำเชื้อเข้าผสม
- ไข่จะค่อย ๆ จมลงสู่ก้นตู้ หลังจากนั้นปลากัดตัวผู้จะรีบว่ายเข้าไปอมไข่ เพื่อจะนำมาพ่นไว้ใต้หวอด ในบางกรณีอาจช่วยกันอมไข่ไปพ่นใต้หวอดทั้งตัวผู้และตัวเมีย
- ขั้นตอนในข้อ 2 และ 3 จะดำเนินการไปจนกระทั่งปลากัดตัวเมียไข่หมดท้อง หลังจากนั้นตัวผู้จะไล่งับตัวเมีย เพื่อเป็นสัญญาณเตือนว่าให้ตัวเมียออกไปไกล ๆ ป้องกันไม่ให้ตัวเมียเข้ามากินไข่ตัวเองเนื่องจากหิวจัด เราจะเห็นได้ชัดว่าตัวเมียถูกตัวผู้กีดกันออกมาชัดเจน ให้แยกตัวเมียออกได้เลย
- เมื่อสิ้นสุดการผสมพันธุ์ ตัวผู้จะเป็นคนดูแลลูก ๆ การแยกปลากัดตัวผู้สามารถทำได้ตั้งแต่ลูกปลามีอายุ 14 วันขึ้นไป หรือสังเกตว่าลูกปลากัดสามารถว่ายน้ำเองได้ ไม่ตกหวอดแล้ว
- ปลากัดสามารถมีลูกได้มากถึงครอกละ 100-500 ตัว ในกรณีที่ปลากัดตัวผู้และปลากัดตัวเมียไม่ได้บอบช้ำมาก สามารถพักฟื้นและนำลงเพาะได้ใหม่ในอีก 2 สัปดาห์ ทั้งนี้ ปลากัดหนึ่งตัวสามารถผสมพันธุ์ได้ 7-8 ครั้ง
ควรแยกพ่อปลาออกเมื่อไหร่ ?
สำหรับการแยกพ่อปลาออกนั้นควรแยกเมื่อลูกปลามีอายุได้ประมาณ 15 วัน เพราะลูกปลาจะสามารถว่ายน้ำได้ดีขึ้นและไม่ตกหวอดแล้ว หลังจากนี้จะเป็นหน้าที่เราที่ต้องอนุบาลเด็ก ๆ ต่อ อ้างอิงจาก Goldenbetta หรือบางตำราก็ให้แยกที่ 4-5 เดือน อ้างอิงจาก Phon Betta
การอนุบาลลูกปลากัด
การอนุบาลปลากัด เป็นขั้นตอนที่เราต้องดูแลลูกปลาที่ยังรอด โดยให้กินอาหารที่เหมาะสม เพื่อเป็นการเสริมสร้างร่างกายให้เติบโตมาอย่างแข็งแรง ไม่ป่วยหรือแคระแกร็น โดยอาหารและความเป็นอยู่ของในแต่ละช่วงวัยนั้นมีความสำคัญมาก ดังนี้
- ช่วง 1-3 วันแรก ลูกปลากัดยังคงมีขนาดเล็กกว่าลูกน้ำยุงลาย พวกเขายังคงมีถุงไข่แดงหรือถุงอาหารอยู่ที่ท้อง ในระยะนี้ยังไม่ควรให้อาหารลงไป เนื่องจากพ่อปลาจะเกิดความสับสนระหว่างอาหารและลูกปลา จะทำให้พ่อปลาสับสนระหว่างลูกตัวเองกับลูกน้ำ และอาจทำให้พ่อปลากินลูกตัวเองได้
- ช่วง 4-5 วัน ถุงไข่แดงหรือถุงอาหารจะเริ่มยุบหาย ลูกปลาจะเริ่มว่ายออกจากหวอดเพื่อหาอาหาร มีทั้งเริ่มว่ายขนานกับพื้นและว่ายเป็นแนวนอน ในตอนนี้ควรเริ่มให้อาหารได้เลย โดยอาหารที่ดีที่สุดแก่การอนุบาลปลากัดคืออาหารสด (ที่เขาแนะนำกันมาก ๆ คือไรแดงสด เพราะโปรตีนสูง และมีชีวิต ลูกปลากัดจะได้ฝึกไล่จับอาหาร และที่สำคัญไรแดงมีขนาดเล็ก ลูกปลากัดจับกินได้ ส่วนใครที่ไม่มีลูกไร สามารถดูคลิป การอนุบาลปลากัดแบบไม่มีลูกไร จากคุณ รถเมล์ Goldenbetta ได้เลยค่ะ) และควรล้างให้สะอาดให้มากที่สุด ให้ปราศจากเชื้อโรค เชื้อรา แบคทีเรีย เพราะไม่อย่างนั้นอาจทำให้เกิดโรคต่าง ๆ ตามมาได้
- เรื่องอาหารการอนุบาลลูกปลากัด ใครที่ไม่มีอาหารสด จะให้เป็น อาหารผง หรือ อาหารผงปั้นแปะ ก็ได้ ในบางที่อาจให้เป็นไข่แดงต้มสุก ยีผ่านกับผ้าขาวบางจนละเอียดและนำลงละลายน้ำให้ปลากัดกิน แต่ไข่แดงจะทำให้น้ำเสียง่าย หมั่นสังเกตความสกปรกของน้ำด้วยนะคะ ถ้าเริ่มเน่าให้ค่อย ๆ เปลี่ยนน้ำอย่างระมัดระวังทันที
- ในการอนุบาลลูกปลากัดเมื่อลูกปลากัดอายุได้ 4-5 วัน นอกจากจะให้อาหารสดแล้ว สูตรของทาง Goldenbetta แนะนำให้เปิดอ๊อกซิเจนเบา ๆ ให้ลูกปลากัดด้วย และควรเปิดอ๊อกซิเจนให้เบาและห่างจากหวอดให้มากที่สุด เนื่องจากป้องกันไม่ให้ลูกปลาตกหวอด ร่วงตาย หรือป้องกันไม่ให้ครีบหูกาง (หูเสีย)
- ช่วง 14-15 วัน ลูกปลากัดจะโตพอที่จะว่ายน้ำเองได้ ไม่ตกหวอดแล้ว ในระยะนี้ หากใครต้องการที่จะแยกพ่อปลาออกก็สามารถทำได้เลย หรือจะให้เขาอยู่ดูแลลูกไปจนลูกอายุ 4-5 เดือนก็ได้ หากตู้เริ่มเน่าเสียหรือน้ำสกปรก ให้ค่อย ๆ นำน้ำออกและเติมน้ำตามสัดส่วนที่ตักออกไป หากใครกลัวที่จะดูดลูกปลาติดออกมา ผู้เขียนอ่านเจอเทคนิคมาว่าให้ทำการสูบน้ำผ่านกระชอน และค่อยสูบเศษหรือสิ่งสกปรกออกตามทีหลัง
- ช่วง 40-50 วัน ลูกปลาจะค่อนข้างแข็งแรงมากแล้ว ให้ทำการดูแลไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะสามารถคัดแยกได้ว่าตัวไหนสามารถขึ้นฟอร์มได้ค่ะ
การคัดเกรดปลากัดเพื่อขึ้นฟอร์ม
ในหมู่ผู้เพาะเลี้ยงปลากัด การเพาะพันธุ์ปลากัดหนึ่งคอกให้สามารถขึ้นฟอร์มได้ 5 ตัวขึ้นไปก็นับว่าดีมากแล้ว ยิ่งโรงเพาะใดสามารถเพาะได้อย่างชำนาญ สามารถขึ้นฟอร์มได้หลายตัว ก็นับว่าเป็นเรื่องที่ดีและน่าชื่นชมเป็นอย่างมาก เนื่องจากปลากัดที่มีลักษณะดี ขึ้นฟอร์มขายได้ สามารถขายได้ราคาสูง โดยเฉพาะสายพันธุ์ที่กำลังเป็นที่นิยม
ลักษณะที่ดีของปลากัด จะมีจุดสังเกตด้วยกันหลัก ๆ 3 จุด คือ สภาพความสมบูรณ์และอาการการแสดงออก ลักษณะรูปทรง และลักษณะสี อธิบายได้ดังนี้
- สภาพความสมบูรณ์และอาการการแสดงออก จะต้องไม่มีแผลตามลำตัวและครีบ เกล็ดไม่หลุดพอง ครีบไม่ฉีกขาด มีกิริยาอาการกระฉับกระเฉง แผ่พองเมื่อถูกกระตุ้น
- ลักษณะรูปทรง มีความสวย สง่างาม ถูกต้อง ตามตำรา สามารถอ่านเพิ่มเติมได้จาก สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน
- ลักษณะสีตามมาตรฐาน โดยสีของปลากัดจะแบ่งตามมาตรฐานได้เป็น 3 ประเภทใหญ่ๆ คือ ปลากัดสีเดียว ปลากัดสองสี และปลากัดสีลวดลาย โดยรายละเอียดลักษณะสีตามมตารฐานของปลากัดนั้นสามารถอ่านเพิ่มเติมได้จาก สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน
นอกจากนี้ ผู้พัฒนาสายพันธุ์ปลากัดควรคำนึงถึงสิ่งต่าง ๆ ดังนี้

ขอขอบคุณภาพจาก GAP กรมประมง
- ผู้พัฒนาสายพันธุ์ควรมีเป้าหมายที่ชัดเจนและมีการวางแผนในการพัฒนาสายพันธุ์ปลากัดแปลกใหม่
- หากผู้พัฒนาสายพันธุ์ปลากัด มีความต้องการที่จะเปิดเป็นฟาร์ม ควรสำรวจตลาดและความต้องการของลูกค้าให้แน่ใจว่ามีความนิยมมากพอ รวมถึงศึกษาหาข้อมูลการส่งออกอย่างละเอียดถี่ถ้วนในกรณีที่คุณต้องการส่งออก เพราะการส่งออกปลากัดหรือปลาสวยงามนั้นจำเป็นต้องมีใบอนุญาต, Cites และการขึ้นทะเบียนต่าง ๆ ที่มีรายละเอียดให้ศึกษาค่อนข้างมาก สำหรับผู้ที่สนใจจะเปิดฟาร์มขายปลากัด หรือต้องการส่งออก สามารถเข้ามาอ่านรายละเอียดได้ที่เว็บไซต์ของกรมประมง www4.fisheries.go.th/ ,หรือ โทรศัพท์/โทรสาร: 02-579-8710 / 02-558-0189, E-mail: [email protected]
- ในกรณีที่มีลูกปลากัดไม่พัฒนาสี หรือปลากัดยีนส์ด้อย ถ้าผู้พัฒนาสายพันธุ์ไม่ประสงค์จะเลี้ยงดูต่อ หากไม่นำไปทำประโยชน์อย่างอื่น ก็ควรจัดการให้ถูกต้องด้วยขอบเขตความรับผิดชอบของตนเอง ไม่ควรปล่อยลงแหล่งน้ำธรรมชาติ เพราะอาจเป็นการทำลายระบบนิเวศได้ค่ะ
ลูกปลากัดตกเกรด ไม่อยากเลี้ยงไว้แต่ก็ไม่อยากคัดทิ้ง ทางออกคือทำอะไรได้บ้าง ?
ปลากัดตกเกรดเป็นปลากัดที่ตัวเล็ก ไม่โต ไม่ขึ้นสี ไม่มีการพัฒนา แต่ก่อนอื่นเราต้องทำความเข้าใจก่อนว่าการเพาะพันธุ์ปลากัดเพื่อค้านั้นทางผู้ผลิตจะไม่เก็บลูกปลาตกเกรดไว้เลี้ยงต่อ เนื่องจากผู้ผลิตมีต้นทุนที่ต้องแบกรับต่อวันเป็นจำนวนมหาศาล ทั้งค่าอาหาร ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าบรรจุภัณฑ์และอื่น ๆ รวมถึงมีปลากัดที่ต้องเลี้ยงไว้ขายตั้งแต่หลักพันถึงหลักแสนตัว การที่จะเก็บปลากัดไว้ทุกตัวรวมถึงตัวที่ตกเกรดด้วยนั้นเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ซึ่งใครที่รู้สึกขุ่นเคืองใจอย่างไรก็อาจต้องทำความเข้าใจตรงจุดนี้ด้วยนะคะ ต่อให้จะบอกว่าเพาะเค้าขึ้นมาก็ต้องรับผิดชอบทั้งหมดให้ได้ก็ตาม เข้าใจค่ะว่าการเห็นลูกปลากัดน่ารักถูกทิ้งนั้นเป็นเรื่องที่น่าเวทนา แต่เราก็ต้องมองโลกอย่างเข้าใจและคำนึงถึงหลักความเป็นจริงด้วยว่าผู้ผลิตก็ต้องทำธุรกิจ ทำการค้าและคัดตัวที่ดีที่สุดไว้ขาย ส่วนผู้บริโภคก็ต้องการตัวสวย ๆ ที่ถูกใจมาไว้ในบ้านเช่นเดียวกัน และเมื่อความต้องการของผู้บริโภคเป็นเช่นนั้น เราก็ต้องทำความเข้าใจทางฟาร์มผู้ผลิตด้วยว่าผู้ผลิตก็อยากให้สิ่งที่ดีที่สุดแก่ผู้ซื้อ ซึ่งปลากัดตกเกรดจะต้องถูกทิ้งอย่างเลี่ยงไม่ได้ ไม่ใช่ว่าเขาใจร้ายแต่อย่างใด มนุษย์ไม่ใช่เจ้าชีวิตที่จะมีสิทธิ์ตัดสินชีวิตใครก็จริง แต่หากเรามองโลกอย่างเข้าใจทุกฝ่าย ธุรกิจก็คือธุรกิจ หากแต่ยังอยู่ในกรอบของการทำงานอย่างถูกต้องก็เพียงพอค่ะ
สำหรับผู้ที่เพาะพันธุ์เองที่บ้าน หรือ Home breeder ต่อให้คุณจะแบกรับต้นทุนไม่เท่ากับการเป็นฟาร์มผลิต แต่การคัดปลากัดตกเกรดทิ้งก็ไม่ผิดอะไรอีกเช่นกัน เพราะผู้เพาะพันธุ์คือคนที่แบกรับต้นทุนและรับความเสี่ยง การตัดสินใจว่าตัวใดมีความจำเป็นที่จะต้องคัดทิ้งและตัวใดที่ควรนำไปขึ้นฟอร์มและเพาะพันธุ์ต่อนั้นเป็นสิทธิ์ของคุณ ขอแค่ไม่ปล่อยทิ้งลงแหล่งน้ำธรรมชาติจนรบกวนระบบนิเวศก็ถือว่าทำหน้าที่ในขอบเขตความรับผิดชอบของคุณแล้วค่ะ
เพราะต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ในการเพาะพันธุ์ปลากัด เป็นไปไม่ได้เลยที่จะได้ปลากัดสมบูรณ์ 100 % ทั้งคอก อาจได้เป็นปลากัดที่สมบูรณ์ตามแบบที่เราต้องการเพียง 10-20 % เท่านั้น ที่เหลืออาจเป็นเกรดกลาง ๆ เกรดล่าง และตกเกรด (ปลากัดไม่พัฒนาแล้ว) ซึ่งปลากัดตกเกรดนี้ ในแง่การค้า ผู้ค้ามีความจำเป็นต้องคัดทิ้ง เนื่องจากปลากัดตกเกรดยังคงต้องมีการกินอยู่ดังเช่นปลากัดตัวอื่น ๆ อาจเกิดการแย่งอาหารกันในคอก ทำให้ปลาที่มีลักษณะสวยงามและพอที่จะนำออกขายได้กินอาหารไม่ทัน โดยทั่วไปแล้ว เมื่อปลากัดตัวใดที่มีแนวโน้มสวยที่สุด จะถูกคัดไปเลี้ยงแยกในโหลเดี่ยว เรียกว่า “การขึ้นฟอร์ม” หรือ “การฟอร์มปลากัด” ดังวีดีโอที่ให้ไว้ข้างต้น
ส่วนใครที่ไม่อยากคัดลูกปลากัดทิ้ง หรือรู้สึกสงสาร สามารถอ่านแนวทางต่อไปนี้เป็นไอเดียได้เลยนะคะ
- นำลูกปลากัดตกเกรดมาใส่ในภาชนะอย่างแจกันใส กะขนาดตัวลูกปลากัดและขนาดแจกันให้เหมาะสม นอกจากจะช่วยเพิ่มความมีชีวิตให้กับแจกันของเราแล้วยังช่วยกินลูกน้ำยุงลายอีกด้วย
- นำไปมอบให้แก่โรงเรียนหรือเด็กนักเรียนที่ต้องการศึกษาวงจรชีวิตปลากัด หรือจำเป็นต้องใช้ในการเรียนวิทยาศาสตร์ แต่ขาดทุนทรัพย์ในการซื้อปลากัดคัดเกรด
- นำไปแจกจ่ายให้แก่เด็ก ๆ หรือแจกจ่ายให้แก่ผู้ที่ต้องการปลาชนิดใดก็ได้ไว้เลี้ยงเพลิน ๆ เป็นเพื่อนแก้เหงา
- หากผู้เลี้ยงมีอ่างบัว บ่อบัว ก็สามารถปล่อยลูกปลากัดเด็ก ๆ ลงไปอยู่อาศัยได้เช่นเดียวกัน ไม่ต้องกลัวพวกเขาจะกัดกันนะคะ เพราะคอกเดียวกันหากไม่เคยแยกกัน และยิ่งครีบเครื่องสีสันไม่ขึ้นแบบนี้ โอกาสกัดกันจริง ๆ น้อยมากค่ะ
- ใครที่รู้จักคนเยอะ สามารถสอบถามไปยังผู้ที่มีอ่างบัว บ่อบัว หรือสระบัวส่วนตัว ก็ได้ เผื่อเขาจะกำลังต้องการปลาชนิดใดก็ได้ไปใส่เพื่อช่วยกำจัดลูกน้ำยุงลาย
- ไม่เพียงแต่ลูกน้ำยุงลาย ปลากัดยังกินอาร์ทีเมีย ไรแดง ไรน้ำ ไรนางฟ้า พารามีเซียม เป็นอาหาร หากแหล่งน้ำในบ้านของคุณมักจะมีสัตว์น่ารำคาญพวกนี้ชุกชุม ลองปล่อยเด็ก ๆ ลงไปให้เฮฮาได้ค่ะ
- ถึงแม้ปลากัดจะสามารถมีชีวิตรอดได้ในแหล่งน้ำที่มีอ๊อกซิเจนต่ำ แต่ในเมื่อเราตัดสินใจจะให้ลูกปลากัดอยู่ต่อ แน่นอนเขาก็ยังเป็นสัตว์ที่มีชีวิต มีความรู้สึก และมีหัวใจอยู่เช่นเดิม อย่างไรก็ดีเราควรที่จะรับผิดชอบด้วยการไม่ทำให้พวกเขาอยู่อย่างทรมานกาย พาเด็ก ๆ ไปอยู่ในแหล่งน้ำที่ดูสะอาดหน่อยนะคะ
- ปลากัดตกเกรดที่ตัวเล็ก ไม่โต ไม่ขึ้นสี ไม่มีการพัฒนา ผู้เลี้ยงไม่ต้องกังวลเรื่องการขยายพันธุ์มากเท่ากับปลากัดโตเต็มวัย เนื่องจากปลากัดตกเกรดเป็นปลาที่หยุดการพัฒนา ฉะนั้นความสมบูรณ์เพศจะแทบไม่มี ถึงมีก็จะน้อยมากค่ะ
ข้อควรระวังระหว่างการเพาะพันธุ์ปลากัดกำลังดำเนินอยู่
- เมื่อมั่นใจว่าได้ไข่แน่นอนแล้ว ไม่ควรเปิดดูบ่อย ๆ เนื่องจากพ่อปลาจะตกใจและกินลูกตัวเองได้
- ควรวางภาชนะเพาะพันธุ์ไว้ในที่ที่แข็งแรง ไม่อ่อนไหวต่อแรงสั่นสะเทือน เพื่อป้องกันปลากัดกินไข่ตัวเอง
ปลากัดกินไข่คืออะไร และป้องกันอย่างไร
ปลากัดกินไข่ตัวเอง เป็นเหตุการณ์ที่สามารถพบเจอได้ในหมู่ผู้เพาะเลี้ยงปลากัด เนื่องจากปลากัดเป็นปลาขี้กังวลและขี้ตกใจ เมื่อไหร่ที่เขารู้สึกว่าพื้นที่ตรงนี้ไม่ปลอดภัย เขาจะทำการกินไข่หรือกินลูกตัวเองทั้งหมดเข้าไปทันที สรุปแบบสั้น ๆ ก็คือ
- ใน ปลากัดตัวเมีย คืออาการหิวจัดหลังวางไข่ จึงทำให้กินไข่ตัวเองเข้าไป ซึ่งเป็นเหตุผลที่ตัวผู้ไล่ต้อนออกจากรัศมีหลังผสมพันธุ์เสร็จ
- ส่วนใน ปลากัดตัวผู้ คืออาการตกใจ รู้สึกระแวงว่าพื้นที่นี้ไม่ปลอดภัยต่อการให้ลูกปลากัดโตขึ้นมานั่นเองค่ะ ทั้งนี้อาจรวมไปถึง พ่อปลามีพฤติกรรมกินลูกอยู่แล้วจากปัจจัยส่วนตัวต่าง ๆ
อนุบาลปลากัดแบบไม่มีพ่อปลาได้หรือไม่ ?
วีดีโอนี้ค่อนข้างอธิบานได้เข้าใจง่ายทีเดียวค่ะ มาลองฟังกันนะคะ
ระหว่างการเพาะพันธุ์ปลากัดอยู่ อาจสามารถเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินได้อย่างมากมาย ยกตัวอย่างเช่น ผู้เลี้ยงต้องรีบใช้พ่อปลา, พ่อปลามีพฤติกรรมกินลูกตัวเอง, พ่อปลาตาย ฯ ซึ่งการอนุบาลลูกปลากัดแบบไม่มีพ่อปลานั้นสามารถทำได้ค่ะ เพียงแต่ผู้เลี้ยงอาจต้องคอยดูแลใส่ใจพวกเขาแทนพ่อปลาหน่อยนะคะ
ตัวผู้ไม่ก่อหวอด แต่ตัวเมียพร้อมแล้ว ถือว่าผิดปกติไหม และสามารถลงรัดเลยได้หรือไม่ ?
ไม่ถือว่าผิดปกติแต่อย่างใดค่ะ ในกรณีที่ปลากัดสร้างหวอดไม่ทันจริง ๆ หรือปลากัดที่จับลงผสมไปไม่ก่อหวอดเลยก็ไม่ต้องกังวลไปนะคะ เพราะปลากัดเป็นสัตว์ที่มีความสามารถที่น่าทึ่ง เขาสามารถวางไข่ให้ลอยน้ำได้อีกเช่นกันค่ะ ขออนุญาตยกตัวอย่างจากกระทู้ ไข่ไร้หวอด ปลากัดสีดำ ใครสนใจก็สามารถเข้าไปอ่านได้เลยนะคะ เป็นกระทู้ที่น่ารัก และเปิดโลกให้กับผู้เขียนพอสมควรเลยค่ะ
หรือ ในกรณีที่มีปลากัดตัวผู้หลายตัว และปลากัดพ่อพันธุ์ของเราไม่มีหวอด ก็สามารถนำหวอดของปลากัดตัวอื่นมาใส่ในภาชนะที่ใช้ในการเพาะพันธุ์ปลากัดของพวกเขาได้นะคะ เพื่อเป็นการกระตุ้นการสร้างหวอด หรือใช้หวอดของอีกตัวในการวางไข่ด้วยได้ค่ะ
ทั้งนี้ ผู้เลี้ยงเองก็ควรสังเกตลูกปลากัดของตัวเองประกอบด้วยนะคะ ว่าเด็ก ๆ สามารถว่ายน้ำได้ดีขึ้นและไม่ตกหวอดแล้วแน่นอนหรือไม่ เพราะไม่อย่างนั้นลูกปลาบางตัวอาจร่วงตายเพราะไม่มีพ่อปลาคอยอมมาพ่นใส่หวอดก็ได้ค่ะ
ไข่ปลากัด ดูอย่างไร ?
แน่นอนว่าสำหรับมือใหม่ การดูไข่ปลากัดที่อยู่ในหวอดนั้นค่อนข้างจะดูยากสักนิดหนึ่ง เนื่องจากหวอดกับไข่นั้นมีสีขาวเหมือนกัน ทั้งนี้วิธีการสังเกตไข่ปลากัดเบื้องต้นนั้น สามารถสังเกตได้ดังนี้
- บนหวอดจะดูมีความทึบแน่น และมีสีขาวมากกว่าปกติ
- เมื่อมองใกล้ ๆ หรือใช้ไฟฉายส่องดู จะพบว่ามีลักษณะคล้ายเม็ดสาคูต้มสุกอยู่ในหวอด
สำหรับใครที่อยากทราบวิธีการสังเกตอย่างละเอียดมากขึ้น สามารถดูคลิปวีดีโอด้านบนประกอบได้เลยค่ะ
ปลากัดสามารถผสมพันธุ์ได้กี่ครั้ง
ปลากัดสามารถผสมพันธุ์ได้ตลอดทั้งปี โดยปลาเพศเมียสามารถผสมพันธ์ุและวางไข่ได้เฉลี่ย 7–8 คร้ังต่อปี ในกรณีที่ไม่บาดเจ็บหรือบอบช้ำมาก เพียง 2 สัปดาห์ก็สามารถนำมาขุนและเพาะพันธุ์ต่อได้
ปลากัดไม่ยอมผสมพันธุ์ แก้ไขอย่างไร ?
ในกรณีที่ปลากัดไม่ยอมผสมพันธุ์ อาจเกิดจากปัจจัยต่าง ๆ ดังนี้
- ปลากัดตัวเมีย มีขนาดใหญ่กว่าปลากัดตัวผู้ ทำให้ปลากัดตัวเมียไม่ยอมตัวผู้ และอาจกัดตัวผู้ตายได้
- ปลากัดตัวเมียยังไม่พร้อม
- ปลากัดตัวเมียพร้อม แต่ปลากัดตัวผู้ไม่ยอมรัด
- ปลากัดทั้งสองตัวไม่ถูกใจกันจริง ๆ
- สถานที่ บรรยากาศ หรือปัจจัยต่าง ๆ ไม่ชวนให้ปลากัดต้องการผสมพันธุ์
วิธีการแก้ไขคือ
- ในกรณีที่ตัวเมียมีขนาดใหญ่กว่าปลากัดตัวผู้ ให้ทำการเปลี่ยนคู่ให้มีขนาดที่เหมาะสมกัน คือตัวเมียต้องตัวเล็กกว่าตัวผู้
- นำทั้งคู่แยกกันไปขุนอาหารใหม่ โดยจะใช้เวลาเท่าใดนั้นไม่สามารถระบุตายตัวได้ ดูที่ความพร้อมของปลากัดเป็นหลัก ในกรณีที่ครีบเครื่องไม่เสียหายมากนัก ก็อาจขุนสัก 1 สัปดาห์ (ส่วนของผู้เขียนนั้นครีบเครื่องขาดเยอะทั้งคู่ และไม่มั่นใจนักว่าพวกเขาไหวแค่ไหนเนื่องจากยังมือใหม่อยู่ จึงให้พวกเขาพักฟื้นและขุนอาหารเพื่อรักษาตัวไปในตัว ส่วนเรื่องการผสมพันธุ์พวกเขาใหม่นั้นผู้เขียนจะรอประเมินสถานการณ์หน้างานดูอีกทีค่ะ)
- นำปลากัดทั้งสองเทียบเหลี่ยมกัน และเปิดให้พวกเขามองเห็นกันตลอดเวลา จะ 7 วัน 1 เดือน หรือ 1 ปี ก็แล้วแต่เทคนิคส่วนบุคคล หากทั้งคู่ดูพร้อมแล้ว ก็ให้เริ่มปล่อยปลาลงรัด อย่าลืมทำตามคำแนะนำในหัวข้อ ควรเริ่มต้นเพาะพันธุ์ปลากัดอย่างไร ตามที่เขียนสรุปไว้ข้างต้นด้วยนะคะ
- หากตัวผู้ยังไม่ยอมรัด และตัวเมียพร้อมแล้ว ให้ทำการเปลี่ยนตัวผู้
- เปลี่ยนบรรยากาศให้เป็นที่ที่เหมาะสม ดังที่เขียนอธิบายไว้ข้างต้น
ในกรณีที่ทำอย่างไรปลากัดก็ไม่ผสมพันธุ์กันจริง ๆ ลองทุกวิถีทางแล้วก็ยังทำไม่ได้ ควรทำการเปลี่ยนคู่ใหม่ให้เขา ถ้าเขาไม่ผสมก็คือไม่ผสม ไม่สามารถไปบังคับเขาได้ ปลากัดทั้งสองของเราอาจไม่ถูกใจกันจริง ๆ ก็เป็นได้ค่ะ
ปลากัดผสมข้ามสายพันธุ์ได้หรือไม่ ?

ขอขอบคุณภาพจาก Goldenbetta
ปลากัดที่เราคุ้นเคยและเลี้ยงกันอยู่ในปัจจุบัน เป็นปลากัดในสปีชีส์ Betta Splendens Regan อยู่ในวงศ์ย่อย Macropodusinae ซึ่งอยู่ในวงศ์ใหญ่ Osphronemidae โดยปลากัดถูกพบว่าเป็นสัตว์ที่มีความยืดหยุ่นทาง DNA เป็นอย่างมาก พวกเขาสามารถพัฒนาลักษณะใหม่ ๆ ไปจนถึงสีแปลก ๆ ได้อย่างไม่น่าเชื่อ จึงทำให้ในปัจจุบันมีผู้เพาะเลี้ยงหลายคนอยากจะผสมพันธุ์ปลากัดออกมาเพื่อให้ได้สายพันธุ์ที่แข็งแรง แปลกใหม่ และน่าสนใจ มากขึ้นเรื่อย ๆ
การผสมข้ามสายพันธุ์ของปลากัด ในแง่ชีววิทยาสามารถกระทำได้ ยกตัวอย่างปลากัดแฟนซี พบว่าสามารถผสมพันธุ์ข้ามสายพันธุ์กันได้ในสกุลเดียวกันเช่น การผสมพันธุ์ปลากัดข้ามสายพันธุ์ระหว่าง Crown tail (ตัวผู้) และ Big Ear (ตัวเมีย) หรือการผสมข้ามสายพันธุ์ระหว่าง ปลากัดป่ามหาชัย และปลากัดไฮบริดเอเลี่ยน
โดยปลากัดที่มัดจะถูกนำมาผสมข้ามสายพันธุ์ จะมีอยู่ 4 สปีชีส์หลัก ๆ ดังนี้
- Betta splenden ปลากัดป่าภาคกลาง
- Betta imbellis ปลากัดป่าภาคใต้
- Betta mahachai ปลากัดป่ามหาชัย
- Betta smaragdina ปลากัดป่าอีสาน
การพัฒนาสายพันธุ์ปลากัดให้แปลกใหม่เป็นเรื่องที่น่ายินดีและน่าสนใจ แต่อย่างไรก็ดี ผู้พัฒนาควรคำนึงถึงความรับผิดชอบเป็นสำคัญ เพราะตามหลักแล้ว ปัจจุบันปลากัดสายพันธุ์โบราณของไทยได้ ถูกขึ้นสถานะไม่มั่นคงในบัญชีแดง IUCN (THE IUCN RED LIST OF THREATENED SPECIES) สถาบันหลักผู้มีอำนาจในการระบุฐานะ และสถานภาพต่าง ๆ ของสปีชีส์ โดยบัญชีแดง IUCN ถือกันโดยทั่วไปว่าเป็นดัชนีที่มีความมีจุดมุ่งหมายและมีหลักการที่สุดในการจัดระดับสปีชีส์ตามระดับความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์

บนบัญชีแดง IUCN สถาบันระดับโลก
นักพัฒนาสายพันธุ์ปลากัดควรมีความรับผิดชอบต่อผลงานของตนเอง โดยการไม่ทิ้งลูกปลาที่ไม่มีการพัฒนาสีของปลากัดสายพันธุ์แปลกใหม่ลงไปในแหล่งน้ำธรรมชาติ เพราะอาจก่อให้เกิดการทำลายระบบนิเวศได้ และควรพึงระลึกไว้เสมอว่า หากไม่มีปลากัดสายพันธุ์โบราณ ก็จะไม่มีปลากัดแฟนซีอันแสนน่ารัก ให้เราได้เลี้ยงดู ชื่นชม หรือค้าขายได้ในวันนี้ เราควรจะทั้งพัฒนาสายพันธุ์อย่างมีความรับผิดชอบ และอนุรักษ์ปลากัดสายพันธุ์โบราณไปพร้อม ๆ กัน ทุกสิ่งสามารถทำควบคู่อยู่ไปด้วยกันได้ หากตั้งอยู่บนความเข้าใจและความพอดี
ปลากัดสีไหลเข้า สีไหลออก คืออะไร
ปลากัดสีไหลเข้า
Nadda Bettaปลากัดสีไหลออก
Nadda Betta
สีไหลเข้าและสีไหลออก เป็นลักษณะการเกิดสีของปลากัด โดยจะแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ ประเภทสีไหลเข้า และประเภทสีไหลออก ในบางกรณีอาจเป็นการผสมระหว่างสีไหลเข้าและไหลออกด้วย โดยการไหลเข้าและไหลออกออกสี อธิบายให้เข้าใจง่าย ๆ ดังนี้
- ปลากัดสีไหลเข้า เป็นการเริ่มต้นมีสีด้วยการมีจุดสี (ลายดอก, มุก) เล็ก ๆ ค่อย ๆ ขึ้นทีละจุดจนเต็มทั้งตัว ยกตัวอย่างเช่น ปลากัดจำพวกสีกาแลคซี่
- ปลากัดสีไหลออก เป็นการเริ่มขึ้นสีเหมือนกับการถูกพู่กันป้ายด้วยสี เรื่อย ๆ จนเต็มทั้งตัว ยกตัวอย่างเช่น ปลากัดจำพวกสีมัลติคัลเลอร์
สามารถฟังการอธิบายเรื่องสีไหลเข้าและสีไหลออกง่าย ๆ จากคลิปนี้ค่ะ
การขุนอาหารพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ก่อนผสมพันธุ์
สำหรับใครที่ต้องการเพาะพันธุ์ปลากัด ก็ย่อมอยากได้พ่อพันธุ์แม่พันธุ์ที่มีสุขภาพแข็งแรง เพื่อที่พวกเขาจะได้ทำการผลิตลูกอย่างมีประสิทธิภาพ และไม่บอบช้ำมากจนเกินไป โดยจะมีวิธีหนึ่งที่นิยมทำกันนั่นก็คือการ “ขุนอาหารพ่อพันธุ์แม่พันธุ์” ก่อนทำการลงรัด ซึ่งวิธีการก็ไม่ได้ยาก ดังนี้
- ให้อาหารที่เน้นโปรตีน และมีสารอาหารครบถ้วน อย่างเช่น ลูกน้ำ ไรแดง ไรน้ำ อาร์ทีเมีย หรืออาหารเม็ดคุณภาพสูง จากวันละ 1 เวลา ก็เพิ่มเป็น 2 เวลา คือเช้าและเย็น
- ทำเช่นนี้ไปจนครบ 1 สัปดาห์ และอีกวันก็ทำการนำทั้งคู่ลงรัดได้เลยค่ะ
การบำรุงดูแลพ่อพันธุ์แม่พันธุ์หลังผสมพันธุ์
เมื่อพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ผสมพันธุ์กันเสร็จ เราจะทำการดูแลแม่ปลาก่อนเพราะต้องแยกเขาออกมาก่อน และค่อยแยกพ่อปลาตามทีหลัง โดยวิธีการบำรุงพ่อปลาแม่ปลาหลังผสมพันธุ์เสร็จมีดังนี้ค่ะ
- นำแม่ปลามาแยกใส่เหลี่ยมสะอาด หรือใส่กลับเหลี่ยมเดิมของเขาที่ทำความสะอาดและเปลี่ยนน้ำใหม่แล้ว
- ใส่ใบหูกวาง หรือ Tannic ลงไป เพื่อเป็นการปรับสภาพน้ำให้เหมาะสมแก่การอยู่อาศัยมากยิ่งขึ้น
- ใส่ยารักษาโรคภายนอก ยี่ห้อใดก็ได้ที่คุณสะดวก หรือ Cotrixide ในอัตรารักษา ร่วมกับยารักษาภายใน หรือ Power Treat ส่วนตัวผู้เขียนหยด อะควาติก บี เพิ่มลงไปด้วย
- เริ่มต้นให้อาหารหลังจากนั้นในวันใหม่เนื่องจากเพิ่งเปลี่ยนน้ำ ลำไส้ของปลากัดจะยังทำงานได้ไม่เต็มที่ โดยจะใช้การขุนอาหารเพื่อให้ฟื้นตัวเร็วก็สามารถทำได้ หากใครไม่ชำนาญมากนัก ก็อาจต้องคอยสังเกตอาการของปลาก่อนนะคะว่าพวกเขามีอาการผิดปกติอะไรหรือไม่ จะได้ดูแลรักษาทีละเรื่องค่ะ
ประสบการณ์ส่วนตัว เพาะพันธุ์ปลากัดไม่สำเร็จเพราะตกใจ ใส่ปลาลงรัดก่อนเวลา
ปกติแล้วก่อนจะนำปลากัดลงเพาะ บางตำราบอกว่าสามารถนำลงเพาะได้เลยเมื่อทั้งคู่พร้อม บางตำราก็บอกว่าให้เทียบปลากัดก่อน จะ 7 วัน 1 เดือน หรือ 1 ปี ก็แล้วแต่เทคนิคส่วนบุคคล ส่วนตัวผู้เขียนนั้นไม่ได้เทียบปลา เพราะคิดเอาเองว่าแค่เปิดให้เขาเจอกันทุกวัน วันละ 15 นาที บ้างก็ 1 ชั่วโมง มาตลอดระยะเวลา 1 เดือนที่ผ่านมาก็น่าจะพอให้พวกเขาคุ้นเคยกันแล้ว
เหตุผลทำให้ตัดสินใจว่าลงเพาะเลย คือตอนเปิดที่กั้นเหลี่ยมให้พวกเขาเจอกัน ตัวเมียมีอาการว่ายขึ้นว่ายลงแบบเร็วมาก ตัวผู้ก็รำแพนใส่ ส่ายหาง กางกระโดง กางปีก (หู) กางตะเกียบ ชายน้ำใส่ตัวเมียอย่างสวยสง่ามาก และทั้งสองตัวพยายามกระโดดเข้าหากัน ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 แล้วที่พวกเขาทำแบบนี้ และเราตกใจมาก จึงตัดสินแบบปัจจุบันทันด่วนใจว่าไม่รอแล้ว จะใส่พวกเขาลงเพาะเลย โดยตั้งใจจัดเหลี่ยมเพาะให้ดีที่สุด
- เราใส่พวกเขาในเวลา 06:30 โดยในช่วง 4 ชั่วโมงแรกที่ใส่รวมกัน มีการขาดวิ่นของครีบเครื่องของทั้งคู่เล็กน้อย แต่จำเป็นต้องทำใจแข็ง เพราะในช่วงนี้จะเป็นช่วงที่พวกเขาเริ่มทำความรู้จักกัน เราเฝ้าดูจนกระทั่งช่วงค่ำ เปิดหน้าต่างและประตูกลางเพื่อให้อากาศในห้องถ่ายเทให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ (ผู้เขียนอาศัยอยู่ในคอนโดชั้น 4) และตื่นกลางดึกพอดีจึงเดินมานั่งดูใหม่อีกครั้ง เนื่องจากลุ้นและใจจดใจจ่อเป็นอย่างมาก ครีบเครื่องขาดยังพอเข้าใจได้ แต่กลัวจะกัดกันตายมากกว่า
- เราทักทางไลน์ไปหา Goldenbetta เรื่องปัญหาการลงเพาะพันธุ์ปลากัดของเรา ทาง Goldenbetta แนะนำว่าให้รอสังเกตพวกเขาสัก 2 วันก่อน เมื่ออดทนรอจนจวนครบ 2 วัน ก็ไม่มีวี่แววว่าจะรัดกัน ประจวบเหมาะกับเห็นทางเพจ Rockyjej Betta โพสต์ภาพบ่อเพาะเลี้ยงลูกปลากัดหูช้างพอดี จึงไม่รอช้ารีบเข้าไปปรึกษา Rockyjej Betta จึงแนะนำให้เรานำทั้งคู่แยกกันก่อนจะดีกว่า เนื่องจากอาการนี้ เป็นอาการของตัวเมียไม่ยอมให้รัด
- เมื่อทั้งสองผู้เชี่ยวชาญพูดตรงกันว่าควรนำออก เราจึงรีบเตรียมที่อยู่เดิมให้พวกเขาใหม่ โดยทำการเปลี่ยนน้ำและใส่ Tannic, Cotrixide ,Power Treat ,อะควาติก บี เข้าไป เพื่อเป็นการป้องกัน รักษา และฆ่าเชื้อ ไม่ลืมเหลือน้ำเดิมไว้ราว 1 ส่วน เนื่องจากเหลี่ยมพวกเขาเพิ่งเปลี่ยนน้ำมาก่อนหน้านี้แล้ว ไม่สกปรกมากนัก
- เมื่อปลากัดตัวน้อยทั้งสองได้สัมผัสกับน้ำที่เราเตรียมไว้ให้อยู่อาศัยและพักรักษาตัว พวกเขาก็ว่ายไปรอบ ๆ ผิวน้ำ ก่อนจะหามุมใดมุมหนึ่งทิ้งตัวนิ่ง ๆ เราเฝ้าสังเกตการณ์อยู่เป็นระยะว่ามีสิ่งใดผิดปกติหรือไม่ เพราะหากมี จะได้รักษาได้ทันท่วงที แต่ในราว ๆ 1 ชั่วโมงต่อมา พวกเขาก็เริ่มดีขึ้น และว่ายหน้าตั้งมาหาเราอย่างเคยเมื่อเราเดินไปหา เราสังเกตอาการทั้งคู่อยู่สักพัก ถือว่าไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง โชคดีที่ตัวเมียของเราค่อนข้างแข็งแรง ส่วนตัวผู้ดูจะเพลียกว่านิดหน่อย เพราะแต่เดิมตัวผู้เราครีบเครื่องทุกส่วนเขาใหญ่และดูฟูฟ่อง ดุ๊กดิ๊ก น่ารักมากในสายตาเรา ยิ่งเวลาเขาว่ายน้ำนั้นเปรียบเสมือนกลีบกุหลาบน้อย ๆ กับลังบินเลย แต่เมื่อครีบเครื่องขาดวิ่นมากมายขนาดนี้ เขาคงรู้สึกเจ็บและเหนื่อยมากแน่ ๆ เราจึงทำการเตรียมอาหารสูตรของ Goldenbetta ให้พวกเขาทั้งคู่กิน เพื่อทำการฟื้นฟูร่างกายอย่างเต็มที่ให้พวกเขาต่อไป
หลังจากวันนี้ เราจะทำการถ่ายรูปและจดบันทึกไว้เรื่อย ๆ ว่าพวกเขาใช้ระยะเวลาพักรักษาตัวกี่วันจึงกลับมาดูสมบูรณ์ที่สุด เพื่อที่จะได้เก็บประสบการณ์มารีวิวให้ทุกคนได้อ่านในบทความต่อ ๆ ไปค่ะ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : Bettafish | Goldenbetta (การเตรียมสถานที่เพาะ ตอนที่ 1) | Goldenbetta (การอนุบาลลูกปลากัด) | Wikipedia (วงศ์ปลากัด) | Pantip | ninekaow | iucnredlist | https://scijournal.kku.ac.th/files/Vol_41_No_1_P_1-15.pdf |