เป็นคำถามที่หลายคนสงสัยกันเยอะมาก ว่าปลากัดสามารถเลี้ยงในห้องแอร์ได้หรือไม่ เนื่องจากปลากัดมีอุณหภูมิน้ำที่เหมาะสมอยู่ที่ 15 องศา ถึง 28 องศา หากร้อนจัดหรือเย็นจัดปลากัดจะอยู่ไม่ได้ และถ้าเรื่องอุณหภูมิเป็นปัจจัยสำคัญขนาดนี้ เราจะสามารถเลี้ยงปลากัดในห้องแอร์ได้หรือไม่นะ ? บทความนี้นำพาคำตอบมาให้คุณแล้วค่ะ เป็นปลากัดที่ผู้เขียนเลี้ยงเองมาราว ๆ เดือนกว่า โดยวันนี้ผู้เขียนจะมาแชร์ประสบการณ์การเลี้ยงปลากัดในห้องแอร์ให้ทุก ๆ คนได้อ่านกัน และจะได้ตอบคำถามที่ถามว่า “ปลากัด เลี้ยงในห้องแอร์ได้ไหม ?”
ก่อนอื่นเลย เราต้องทำความรู้จักกับปลากัดของเราเสียก่อน ทำความรู้จักในที่นี้ไม่ใช่เรื่องการแนะนำตัวหรืออะไร แต่หมายถึงการสังเกตเบื้องต้นดูว่าปลากัดของเราเป็นปลากัดที่แข็งแรงสุขภาพดีหรือไม่ เบื้องต้นดังนี้
- สังเกตดูว่ามีอาการซึม ไม่กินอาหาร ว่ายน้ำอ่อนแรงไหม หากมีอาการซึมหรืออ่อนแรง ไม่กินอาหาร มีความเป็นไปได้ทั้งป่วย และเพลียจากการเดินทาง ในกรณีที่เพิ่งได้รับปลามา หากเป็นปลาที่เพลียจากการเดินทาง คุณควรให้เขาได้พัก วิธีการสังเกตว่าพวกเขาสดชื่นขึ้นแล้วหรือยังคือการที่พวกเขาว่ายน้ำกระฉับกระเฉงขึ้น และกินอาหารได้มากขึ้น
- สังเกตดูว่าปลากัดมีการขับเมือกขึ้นมาบนผิวน้ำหรือไม่ โดยดูได้จากฝ้าทึบ ๆ บนผิวน้ำ ในปลากัดบางตัวเมือกอาจจับตัวกันเป็นแผ่นเหลว ๆ หากมีการขับเมือกออกมามาก เป็นไปได้ว่าปลากัดป่วย ควรปฐมพยาบาล หรือทำการรักษา (อ่านหัวข้อที่ 4 : การปฐมพยาบาลปลากัด )
เรียกง่าย ๆ ว่าเป็นการตรวจเช็คสุขภาพเบื้องต้นนั่นเอง แต่หากประเมินคร่าว ๆ แล้ว ปลากัดไม่ได้มีอาการรุนแรงอะไร อาจมีแค่อาการเหนื่อย เพลีย จากการเดินทางมาในกล่อง ก็ปล่อยให้เขาได้พักสักสามสี่วันแล้วแต่ตัวนะคะ

บ้างก็อุณหภูมิห้อง 28 – 31 องศา
เปิด-ปิด ไม่เป็นเวลา แล้วแต่กิจวัตรประจำวันในแต่ละวัน
เลี้ยงปลากัดในห้องแอร์อย่างไรให้ปลากัดไม่ป่วยง่ายและแข็งแรงอยู่เสมอ
เมื่อเราสังเกตและทำความรู้จัก-ทำความเข้าใจกับปลากัดของเราในเบื้องต้นแล้ว หลังจากนั้นเราก็จะทำการเตรียมน้ำ และเตรียมที่อยู่อาศัยตามปกติ (อ่าน : อยากเลี้ยงปลากัด มือใหม่ต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง ) ในภาพคือปลากัดที่เราเลี้ยงอยู่เองในคอนโด เราเลี้ยงพวกเขาอยู่ในห้องที่เปิดแอร์ราว ๆ 25 – 28 องศาต่อวันแล้วแต่สภาพภูมิอากาศ การเปิดแอร์จะเปิดไม่เป็นเวลา เพราะในแต่ละวันอาจมีกิจวัตรประจำวันไม่เหมือนเดิม อย่างไรก็ตาม อุณหภูมิจะไม่เคยต่ำกว่านี้หรือสูงกว่านี้ เนื่องจากผู้เขียนเป็นคนไม่ชอบอยู่ในสภาพอากาศเย็นมากหรือร้อนมากไปเช่นกัน ส่วนอุณหภูมิห้องปกติจะอยู่ที่ประมาณ 28 – 31 องศา แต่ส่วนใหญ่แล้วเราจะวัดที่อุณหภูมิของน้ำเป็นหลัก เนื่องจากบางทีอุณหภูมิห้องหรือสภาพอากาศโดยรวมร้อน แต่อุณหภูมิของน้ำอาจกำลังพอดีให้ปลาอยู่ได้ก็ได้
ในช่วงแรก เมื่อเราได้ปลามาใหม่ ๆ ปลาอาจยังอยู่ในช่วงปรับตัว ทั้งเรื่องน้ำใหม่ อาหารใหม่ ที่อยู่ใหม่ และอากาศใหม่ ๆ ขอแนะนำให้ผู้เลี้ยงหมั่นสังเกตอาการของปลากัดคุณอย่างใส่ใจ ว่าพวกเขามีอาการผิดปกติอะไรหรือไม่ หากทุกอย่างโดยรวมโอเค แปลว่าทุกอย่างกำลังไปได้สวยแล้ว ฉะนั้นไม่ต้องกังวลใจไปนะคะ ถ้าไม่เป็นอะไรก็คือไม่เป็นอะไร เพราะปลากัดหากเขาเป็นอะไรจริง ๆ เขาจะแสดงอาการออกมาให้เราเห็นอย่างแน่นอน อย่างน้อยที่สุดคือการว่ายน้ำช้าลง ไม่กระตือรือร้น ซึม และไม่กินอาหารค่ะ
ส่วนปลากัดจะกระโดดหรือไม่นั้น ส่วนตัวที่เลี้ยงมาไม่เคยกระโดดนะคะ อาจเพราะเหลี่ยมปลากัดทุกใบที่เราเลือก เราจะเลือกแบบมีฝาปิดทุกใบ เพื่อป้องกันปลากัดกระโดดออกมาตายเอง ป้องกันแมลงตกลงไป และป้องกันจิ้งจกคาบไปกินด้วยค่ะ รวมถึงเราให้พวกเขามีพื้นที่ส่วนตัวทุกตัว 1 เหลี่ยมต่อ 1 ตัว ต่อให้ตัวเมียต่างคอกจะสามารถฝึกให้อยู่รวมกันได้ก็ตาม เนื่องจากปลากัดเป็นสัตว์นิสัยพาล มักจะชอบไล่กัดตัวที่เล็กที่สุด ต่อให้อยู่ด้วยกันได้ แต่ปลากัดตัวที่โดนรังแกอาจกระโดดหนีออกมาตายเองได้ก็มีค่ะ
ในเรื่องของพืชน้ำ และของตกแต่ง หากใครขี้เกียจดูแลและทำความสะอาด จะไม่ใส่เลยก็ได้เช่นกันค่ะ จะว่าจำเป็นไหมมันก็ไม่ขนาดนั้น บางคนกลัวปลากัดเหงา อาจหาเพียงแค่สาหร่ายหางกระรอกมาใส่ไว้สักหนึ่งต้นก็ได้ค่ะ ไม่ต้องกังวล ปลากัดเป็นสัตว์อดทน ก่อนจะมีคนเอามาเลี้ยงพวกเขาอยู่กันมาได้ เอาง่าย ๆ คือแค่การดูแลให้ปลากัดแข็งแรง สุขภาพดีอยู่เสมอ ก็เพียงพอแล้วค่ะ
สุดท้ายนี้ ขอฝากปัจจัยหลัก ๆ อีกราว ๆ 4 ข้อ ที่ผู้เลี้ยงควรจะใส่ใจให้ดีอยู่เสมอ เพื่อสุขภาพที่แข็งแรงของปลากัด มีดังนี้ค่ะ
สภาพน้ำ
สิ่งสำคัญที่ไม่ควรละเลย ไม่ว่าจะเลี้ยงปลากัดในห้องแอร์หรือไม่ก็ตาม นั่นก็คือการหมั่นคอยดูแลสภาพน้ำและภาชนะที่อยู่อาศัยของปลากัดให้สะอาดอยู่เสมอ หากสังเกตว่าพืชน้ำ ก้อนหิน และของตกแต่ง ที่เริ่มจะสกปรกหรือมีคราบสะสมก็ควรทำความสะอาดอย่างเคร่งครัด เนื่องจากการสะสมและหมักหมมของสิ่งสกปรกและคราบเมือก จะเป็นจุดกำเนิดของโรค แบคทีเรีย และปรสิตต่าง ๆ ตามมาได้
หากถามว่าควรเปลี่ยนน้ำช่วงไหน ปกติแล้วเราจะเปลี่ยนน้ำในช่วงระยะ 5-7 วันค่ะ แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคลอีกเช่นเคย เพราะหากในช่วง 5-7 วัน เหลี่ยมปลากัดของคุณไม่ได้สกปรกมาก ไม่ค่อยมีสิ่งปฏิกูลเท่าไร อาจไปเปลี่ยนอีกทีตอนที่น้ำเริ่มดูขุ่นขึ้นหรือมีกลิ่นไม่ค่อยดีก็ได้ค่ะ
คุณภาพอาหาร
คุณค่าทางโภชนาการของอาหารของปลากัดนั้นเป็นปัจจัยที่สำคัญพอ ๆ กับการกินอยู่ของมนุษย์ เนื่องจากปลากัดเป็นสัตว์เลือดเย็น ไม่มีเอนไซม์ที่ช่วยให้ร่างกายคงความอบอุ่นไว้ใด้แบบเดียวกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดอื่น ที่สำคัญพวกเขาเป็นสัตว์กินเนื้อ จึงจำเป็นต้องได้รับโปรตีนจากอาหารสดหรืออาหารที่มีคุณค่าทางอาหารสูง ดังนั้นการเลือกอาหารที่ให้โปรตีนสูง และมีแร่ธาตุที่จำเป็นครบถ้วนตามปริมาณที่สมควรจะได้รับในแต่ละวันก็ถือเป็นอีกปัจจัยหลักที่จะทำให้ปลากัดของเรามีสุขภาพแข็งแรงมากพอที่จะสามารถอยู่อาศัยในอุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลงได้ โดยส่วนตัวเราใช้ อาหารเม็ดจาก Goldenbetta เนื่องจากมีปริมาณโปรตีนสูงถึง 70% และสามารถใช้แทนอาหารสดได้ ยิ่งใช้ควบคู่กับ วิตามินเสริม Aminovita ก็ยิ่งได้ผลลัพธ์ที่พึงพอใจ
หากใครสะดวกที่จะให้อาหารเม็ดรูปแบบอื่น ๆ หรืออาหารสด ก็เป็นเรื่องที่ดีอีกเช่นกันค่ะ แค่ดูว่าเป็นอาหารที่ปลากัดของเราสามารถกินได้ กินแล้วไม่มีอาการท้องอืด ท้องมาน และยังสุขภาพดี ว่ายน้ำขันแข็งดีอยู่ เท่านี้ก็เพียงพอแล้วค่ะ
สภาพอากาศ
แน่นอนว่าบทความนี้เราพูดถึงการเลี้ยงปลากัดในห้องแอร์ สำหรับใครที่อาศัยในคอนโดเช่นเรา หรือใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในห้องแอร์ และอยากจะตั้งเพื่อนตัวน้อยของเราไว้ในที่ที่อยู่ใกล้กัน เราควรที่จะเปิดแอร์ใน Lengh ที่บวกลบแล้วไม่ต่างกันมากจนเกินไป อย่างที่เรากล่าวไปข้างต้น ทั้งนี้ปรับตามความเหมาะสมของแต่ละบ้านได้เลยนะคะ
ตำแหน่งที่ตั้งเหลี่ยมปลากัด
ตำแหน่งที่ตั้งเหลี่ยมปลากัดใครว่าไม่สำคัญ ใช่ว่าจะตั้งที่ใดก็ได้ ทางที่ดีควรตั้งไว้ในบริเวณที่ครอบครัวมาใช้เวลาอยู่ด้วยกันเยอะ อย่างห้องนั่งเล่น หรือห้องทำงาน เพื่อให้พวกเขาได้มองเห็นมนุษย์จะได้ไม่เหงา และไม่ควรวางไว้บริเวณที่จิ้งจก หรือแมลงต่าง ๆ เข้าถึงได้ง่าย เพื่อป้องกันปลากัดถูกจิ้งจกกิน และป้องกันแมลงตกลงไปในน้ำ เพราะเมื่อแมลงตกลงไปในน้ำ ตามสัญชาติญาณนักล่าปลากัดจะรีบพุ่งเข้ามากินหรือจัดการ เมื่อปลากัดงับเข้าไป อาจทำให้ติดคอตาย หรือต่อให้กินเข้าไปได้ก็อาจเจอแมลงสกปรก ติดเชื้อตายได้อีกเช่นกัน รวมถึงควรเลือกเหลี่ยมที่มีฝาปิดเพื่อป้องกันปลากัดกระโดดและป้องกันสิ่งสกปรกหรือแมลงตกลงไป ดังที่กล่าวไว้ข้างต้นนะคะ
ตู้หรือชั้นวางควรมีความแข็งแรงมากเพียงพอ เพื่อป้องกันการหักงอระหว่างชั้น และป้องกันแรงสั่นสะเทือนได้ระดับหนึ่งที่อาจเกิดจากฝีเท้า การแตะ ชน และอื่น ๆ ปลากัดเป็นปลาที่ไวต่อคลื่นเสียงมากและขี้ตกใจ การกระแทกที่รุนแรงอาจทำให้ปลากัดตกใจสุดขีดได้ค่ะ