ในอดีตที่ผ่านมาเรารู้กันดีกว่า OnePlus เป็นแบรนด์ที่สร้างสมาร์ตโฟนสเปคแรงระดับเรือธงแต่ทำราคาออกมาในระดับที่เอื้อมถึงได้ง่ายกว่า จนได้รับฉายาว่าเป็นนักฆ่าเรือธง แต่กาลเวลาผ่านไปผู้คนไม่ได้ใส่ใจแค่เรื่องสเปคหรือความแรงเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังใส่ใจองค์ประกอบอื่น ๆ มากเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นคุณภาพของหน้าจอ กล้อง ลำโพง การกันน้ำ ฯลฯ ทำให้หลายแบรนด์ต้องหันมาแข่งขันกันพัฒนาในสิ่งเหล่านี้ รวมถึง OnePlus ด้วยเช่นกัน การเปลี่ยนแปลงแนวทางของแบรนด์ในอดีตจึงเป็นสิ่งที่ตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และ OnePlus ก็ได้สลัดภาพลักษณ์นักฆ่าเรือธงทิ้งและเปลี่ยนมาเป็นเรือธงไฮโซที่มีความสมบูรณ์แบบในด้านต่าง ๆ นอกจากสเปคมากขึ้นกว่าเดิม

แต่จะสมบูรณ์แบบมากแค่ไหน เดี๋ยวผมจะเล่าให้ฟัง
Specification
- หน้าจอ Fluid AMOLED ขนาด 6.78 นิ้ว ความละเอียด 3168 x 1440 พิกเซล (QHD+) ความหนาแน่น 513 พิกเซลต่อตารางนิ้ว อัตราส่วน 19.8:9 รองรับขอบเขตสี sRGB และ Display P3
- ระบบปฏิบัติการ OxygenOS บนพื้นฐาน Android™ 10
- ชิปเซ็ต Qualcomm® Snapdragon™ 865 จับคู่กับชิปเซ็ต 5G X55
- RAM 8GB/12GB LPDDR5
- ความจุ 128GB/256GB แบบ UFS 3.0 2-LANE
- แบตเตอรี่ 4510 mAh
- ระบบชาร์จเร็ว Warp Charge 30T (5V/6A) พร้อมระบบชาร์จไร้สาย 30W
Unbox
สิ่งที่มาในกล่องประกอบไปด้วย
- OnePlus 8 Pro พร้อมฟิล์มหน้าจอที่ติดมาให้เรียบร้อยแล้ว
- อแดปเตอร์ Warp Charge 30 วัตต์
- สายเคเบิล Type-C สำหรับระบบ Warp Charge
- คู่มือ
- จดหมายต้อนรับ
- ข้อมูลความปลอดภัยและใบรับประกัน
- สติกเกอร์
- เคสใสลาย Never Settle
- เข็มเปิดถาดใส่ซิม

Shades of perfection ดีไซน์สวยงามกันน้ำกันฝุ่น
OnePlus 8 Pro มีด้วยกัน 3 สีคือ Glacial Green, Ultramarine Blue และ Onyx Black

สำหรับสีที่นำมารีวิวนั้นจะเป็นสี Glacial Green ที่มีความพิเศษคือวัสดุฝาหลังเป็นกระจกด้าน ทำให้ป้องกันรอยนิ้วมือได้เป็นอย่างดี ตัวเครื่องมีสีสันที่แปลกตา ดูเขียวอมฟ้าสมกับชื่อ แต่ส่วนมากจะออกไปทางฟ้าถ้าหากเอียงเครื่องให้สะท้อนกับแสง และให้สัมผัสที่หนืด ๆ ด้าน ๆ แตกต่างไปจากสมาร์ตโฟนที่เป็นฝาหลังกระจกทั่ว ๆ ไป

OnePlus 8 Pro มาพร้อมกับดีไซน์ที่ด้านหน้าและด้านหลังมีขอบโค้งเข้าหากัน ทำให้ตัวเครื่องโค้งกระชับรับกับฝ่ามือ

ขอบด้านบนนั้นจะมีส่วนเว้าบริเวณกึ่งกลางแบบสังเกตได้

นอกจากนี้ยังมาพร้อมกับมาตรฐาน IP68 ทำให้มีความสามารถในการกันน้ำกันฝุ่นได้อีกด้วย
จุดเด่นอย่างนึงของสมาร์ตโฟนจากแบรนด์ OnePlus คือปุ่ม Alert Slider ที่อยู่ใกล้ ๆ ปุ่ม Power ทำให้สามารถปิดเสียง เปิดเฉพาะระบบสั่น หรือว่าเปิดเสียงแจ้งเตือนได้โดยที่ไม่ต้องเปิดจากระบบของเครื่อง เป็นอะไรที่สะดวกมากเพราะปรับได้ถึง 3 ระดับเลยทีเดียว

120 Hz Fluid Display สวยงามตา สัมผัสลื่น
อย่างที่รู้กันว่า OnePlus หันมาเอาใจใส่เรื่องคุณภาพของหน้าจอแบบจริงจังตอนที่เปิดตัว OnePlus 7 Pro ออกมา และก็มีกระแสตอบรับเรื่องคุณภาพของจอเป็นอย่างดี ทำให้ไม่มีเหตุผลที่ทายาทรุ่นต่อ ๆ มาจะไม่สานต่อจุดเด่นด้านนี้

OnePlus 8 Pro มาพร้อมกับหน้าจอ Fluid AMOLED ขนาด 6.78 นิ้ว ความละเอียด QHD+ อัตราส่วน 19.8:9 พร้อมกล้องหน้าที่ฝังตัวอยู่บริเวณมุมซ้ายบนของหน้าจอ จุดเด่นหลัก ๆ ก็คือมี refresh rate สูงถึง 120 Hz ทำให้แสดงผลได้แบบลื่นไหล
หน้าจอสว่างได้ถึง 1300 nits ใช้งานกลางแสงจ้าก็มองเห็นได้สบาย ๆ

หน้าจอแสดงผลแบบ 10-bit แสดงผลได้ถึง 1 พันล้านสี ช่วยให้แสดงผลภาพที่มีการไล่สีได้แบบสมูทมากขึ้น ลดรอยต่อของการเปลี่ยนแปลงสีในภาพ
ถ้าหากใครไม่ถูกใจสีที่เป็นค่าเริ่มต้นก็สามารถเลือกปรับได้ มีให้เลือก 3 แบบคือ Vivid แสดงสีแบบสดใส Natural แสดงผลที่ดูเป็นธรรมชาติ แต่ถ้าหากยังไม่ถูกใจ ก็สามารถปรับแบบ Advanced ที่จะมีให้เลือกได้อีกว่าจะให้แสดงผลแบบ AMOLED Wide Gamut, sRGB หรือ Display P3 เรียกได้ว่าเป็นสมาร์ตโฟนที่ปรับสีของจอได้หลากหลายแบบมาก นอกจากนี้ยังตั้งค่าได้ว่าจะให้แสดงสีแบบโทนเย็นหรือโทนร้อนอีกด้วย
มีฟีเจอร์ Comfort Tone ที่จะช่วยปรับโทนสีให้เข้ากับสภาพแวดล้อมรอบข้าง ทำให้ดูหน้าจอได้สบายตามากขึ้น
สำหรับการรับชมวิดีโอนั้นจะมีเอ็นจิ้นเพิ่มประสิทธิภาพในการรับชมให้ได้อารมณ์มากขึ้น 2 ตัว คือ Vibrant color effect Pro ที่จะทำให้วิดีโอมีสีสันมากขึ้น และ Motion graphics smoothing ที่ช่วยเพิ่ม frame rate และลด motion blur ทำให้การรับชมวิดีโอนั้นลื่นไหลมากขึ้น รองรับแอปที่คนนิยมดูคอนเทนต์อย่าง Netflix และ YouTube ด้วย แต่จะทำงานก็ต่อเมื่อดูในโหมดเต็มจอเท่านั้น
ส่วนใครที่เป็นสายอ่าน ก็มี Reading mode ที่ช่วยปรับสีหน้าจอให้อ่านได้สบายขึ้น สามารถเลือกได้ 2 แบบคือ Chromatic effect ที่ลดความเข้มของสีลงกับ Mono effect ที่แสดงผลแบบขาวดำ
หรือถ้ายังอยากเสพคอนเทนต์แบบให้เห็นสีสันอยู่ก็สามารถเปิด Night mode เพื่อให้สีจอออกไปทางโทนอุ่นได้
OxygenOS ใช้งานลื่นไหลไม่มีสะดุด
OxygenOS มีพื้นฐานอยู่บน Android 10 จัดว่าเป็นระบบปฏิบัติการที่ขึ้นชื่อว่าคลีนและทำงานได้ลื่นไหลมาก มีความใกล้เคียงกับระบบปฏิบัติการ Android ของ Google Pixel แต่ก็ไม่ได้ถึงขั้นที่ว่าจะไม่มีลูกเล่นอะไรเด็ด ๆ มาให้เลย เพราะทาง OnePlus เองก็ได้จัดฟีเจอร์ที่จำเป็นมาให้ใช้แบบครบครัน
ในส่วนของหน้า Home สามารถปรับแต่งได้หลายจุด ไม่ว่าจะตั้งค่าให้เลื่อนบริเวณหน้า Home ลงเพื่อเข้า Qucik settings โดยที่ไม่ต้องเลื่อนลงมาจากด้านบนสุด, ตั้งค่าให้มีหน้า Discover ที่เหมือนกับของ Google Pixel เป๊ะ ๆ สำหรับแสดงผลข้อมูลต่าง ๆ เมื่อปัดขวา, แตะที่หน้า Home 2 ทีเพื่อล็อคหน้าจอ สำหรับหน้าตาของหน้า Home นั้นก็ปรับแต่งได้เช่นกัน สามารถซ่อนชื่อไอคอนได้, เปิดหรือปิดหน้า App drawer, โชว์จุดบนแอปเมื่อมีการแจ้งเตือน, ปรับรูปแบบไอคอน, ปรับเลย์เอาต์ของหน้า Home
และยังมีพื้นที่ลับสำหรับใส่แอปที่ไม่อยากให้ใครเห็น โดยเข้าถึงได้ด้วยการถ่างนิ้วออกจากกันในแนวตั้งขณะอยู่ในหน้า Home ซึ่งในส่วนนี้สามารถตั้ง password ไว้ได้ด้วย
แต่ถ้าปรับแค่หน้า Home ยังไม่สะใจพอ คุณสามารถปรับแต่งส่วนอื่น ๆ ของระบบได้ด้วยเช่นกัน ทั้งหน้า Lock screen, สีและรูปทรงไอคอนของ Quick settings, Tone สีของระบบ และฟอนต์
สำหรับฟีเจอร์เด่นอีกหนึ่งอย่างที่มาพร้อมกับ OxygenOS ก็คือ Zen Mode ถ้าหากต้องการใช้สมาธิหรืออยากลดการเสพติดสมาร์ตโฟน ก็สามารถใช้ Zen Mode ได้ โดยโหมดนี้จะทำให้เราเข้าได้แต่แอปที่จำเป็นเท่านั้น สามารถตั้งเวลาล็อคได้ 4 แบบ โดยมีให้เลือกว่าจะตั้ง 20 นาที 30 นาที 40 นาที หรือ 60 นาที
ในส่วนของ Utilities ก็ยังมีฟีเจอร์ให้ใช้งานอีกจำนวนหนึ่งเช่นกัน
Quick launch กดค้างที่บริเวณสแกนลายนิ้วมือขณะที่ปลดล็อคเครื่องเพื่อเข้าถึงฟีเจอร์ของแอปที่เราตั้งค่าไว้ อันนี้จัดว่าสะดวกมากเพราะสามารถตั้ง Shortcut ได้หลากหลายแอปพลิเคชันมาก รวมถึงพวกฟีเจอร์ต่าง ๆ ของพวกแอปธนาคารด้วย

Parallel Apps โคลนแอปโซเชียลมีเดียขึ้นมาเพิ่มเพื่อใช้งาน 2 บัญชีไปพร้อม ๆ กัน
App locker ล็อครหัสผ่านแอปพลิเคชัน
Scheduled power on/off ตั้งเวลาเปิดปิดเครื่องอัตโนมัติ
Pocket mode ป้องกันการทัชสกรีนแบบไม่ได้ตั้งใจขณะที่ใส่เครื่องไว้ในกระเป๋า
OnePlus Switch สำหรับย้ายข้อมูลจากเครื่องเก่ามาใส่ใน OnePlus 8 Pro
OnePlus Laboratory ให้คุณได้ลองฟีเจอร์ใหม่ในอนาคตโดยสามารถโหวตได้ว่าชอบหรือไม่ชอบฟีเจอร์นี้ โดยตอนนี้มีฟีเจอร์ที่น่าสนใจ 3 อย่างคือ ลดการกระพริบของหน้าจอขณะเปิดแสงสว่างของจอน้อย บังคับให้เล่นวิดีโอที่ 120 fps และทำให้บางแอปพลิเคชันแสดงผลแบบ dark tone ได้
Quick reply in landscape สำหรับตอบข้อความเมื่อมีแจ้งเตือนเข้าเวลาใช้งานแนวนอน
สำหรับใครที่ชอบเล่นเกม ก็จะมี Game Space ที่ช่วยให้เล่นเกมได้ดีขึ้น เพราะจะช่วยจัดการการแจ้งเตือนต่าง ๆ ไม่ให้รบกวนการเล่นเกมของเรา แต่ก็จะไม่ทำให้เราพลาดการแจ้งเตือนไปเลยซะทีเดียว เพราะสามารถเลือกให้แสดงผลการแจ้งเตือนแบบรบกวนการเล่นเกมให้น้อยที่สุดได้ และยังช่วยล็อคแสงหน้าจอไม่ให้ปรับขึ้นลงเองอีกด้วย
ในส่วนของ Performance ก็มีการรีดพลังเพิ่มเช่นกัน ช่วยปรับกราฟิกในส่วนของแสงและรายละเอียดต่าง ๆ ในภาพรวมให้ดีขึ้น มีการสั่นตอบสนองเวลาเกิดสิ่งต่าง ๆ ในเกมสำหรับเกมที่รองรับ และคอยจัดการเรื่องระบบเครือข่ายให้เราสามารถเล่นได้แบบลื่นไหลไม่มีสะดุด
แต่ถ้าหากยังไม่สะใจ ก็ยังมี Fnatic mode ที่จะทำให้เล่นเกมได้โหดกว่า Game mode ปกติ โดยจะบล็อคการแจ้งเตือนทั้งหมด ควบคุมการประมวลผลพื้นหลังเพื่อไม่ให้กินทรัพยากรของเกม และหยุดการทำงานของซิมที่ 2
ประสิทธิภาพแรง สมกับสโลแกน Lead with Speed
OnePlus 8 Pro เครื่องที่ได้มารีวิวนั้นมาพร้อมกับชิปเซ็ต Snapdragon 865 RAM 12 GB ความจุ 256 GB แน่นอนว่าการใช้งานโดยทั่วไปนั้นสามารถใช้ได้แบบสบาย ๆ แน่นอน เพราะฉะนั้นเราจะมาพูดถึงในส่วนของการเล่นเกมกัน จากพาร์ทที่แล้วเราได้พูดเรื่อง Game Space ไปแล้ว เดี๋ยวจะมาลองเล่นเกมดูกันบ้างว่าจะเป็นยังไง
ทดลองเล่นเกมแรกก่อนเลยกับเกม PUBG MOBILE ปรับภาพให้สุดทุกอย่างที่จะปรับได้และลองวัด frame rate ด้วยแอป Cortex Games ผลที่ได้น่าประทับใจมากเพราะเล่นได้ 60 fps นิ่ง ๆ จนจบเกม แถมระบายความร้อนได้ดี ไม่มีความร้อนสะสมอีกด้วย และสำหรับเกม PUBG MOBILE ก็ยังรองรับระบบ Haptic feedback enhancement ซึ่งเครื่องจะสั่นเมื่อศัตรูขับรถผ่านหรือยิงปืนใกล้ ๆ เราด้วย ทำให้ได้เปรียบสุด ๆ หากเล่นเกม PUBG MOBILE ด้วยสมาร์ตโฟนรุ่นนี้
อีกเกมหนึ่งที่ทดลองเล่นก็คือ Forza Street ซึ่งเป็นเกมที่มีกราฟิกสวยงามมาก แน่นอนว่าสามารถเล่นได้แบบลื่น ๆ 60 fps ตลอดเกมและเรนเดอร์ภาพออกมาได้สวยงามตามท้องเรื่องเลยทีเดียว
กล้องหลัง 4 ตัว พร้อมตาเทพมองทะลุวัตถุได้ (?)
OnePlus 8 Pro มาพร้อมกับกล้องหลัง 4 ตัว ประกอบไปด้วย
- กล้องหลักเซ็นเซอร์ IMX 689 ความละเอียด 48 ล้านพิกเซล พร้อม OIS
- กล้องมุมกว้าง 120° เซ็นเซอร์ IMX 586 ความละเอียด 48 ล้านพิกเซล พร้อมโหมด Macro Mode ระยะ 3 เซนติเมตร
- กล้อง Hybrid Zoom ความละเอียด 8 ล้านพิกเซล พร้อม OIS ซูมแบบดิจิทัลได้ 30 เท่า
- กล้อง Color Filter สำหรับโหมด Photochrome filter

สำหรับ UI ของกล้องก็จะมาแบบเรียบง่ายตามสไตล์แบรนด์นี้ สิ่งที่น่าสนใจจะอยู่ที่ไอคอน 3 อันที่อยู่ด้านบนทางขวาและไอคอนที่อยู่มุมซ้ายล่าง สำหรับไอคอนแรกหรือไอคอนที่อยู่ตรงกลางนั้นจะเป็นโหมดที่สลับความละเอียดจาก 12 ล้านพิกเซลไปเป็น 48 ล้านพิกเซลที่เต็มความละเอียดของเซ็นเซอร์ ไอคอนต่อมาที่เป็นรูปดอกไม้มีขีดทับคือไอคอนสำหรับโหมดมาโคร และไอคอนขวาสุดที่เป็นรูปวงกลม 3 วงซ้อนกันโดนขีดทับนั้นจะเป็นฟิลเตอร์ต่าง ๆ ที่มีให้เลือก 5 แบบ ส่วนไอคอนที่อยู่มุมซ้ายล่างก็ไม่ใช่ใครที่ไหน แต่เป็น Google Lens นั่นเอง
สำหรับโหมดถ่ายภาพปกติก็จะถ่ายได้ตั้งแต่ระยะ 0.6x 1x 3x ไปจนถึง 30x

ภาพที่ได้จากกล้องมุมกว้าง (IMX 586) และกล้องหลัก (IMX 689) ซึ่งทั้งคู่เป็นเซ็นเซอร์ตัวเดียวกับที่ใช้ใน OPPO Find X2 Pro ก็ให้ภาพที่น่าประทับใจมาก สวยงามไม่แพ้เรือธงรุ่นไหน ๆ ส่วนกล้องซูมที่ระยะ 3x-10x ก็ถือว่าช่วยในการซูมได้เป็นอย่างดี แต่ถ้าเกินมากกว่านั้นก็ไม่ค่อยมีประโยชน์ในแง่ความสวยงามเท่าไหร่ ถ้าจะมีประโยชน์ก็คือในกรณีที่ซูมเพื่อให้รู้ว่ามีอะไรอยู่ตรงนั้นบ้าง
ในส่วนของโหมด 48M นั้นจะทำให้เราสามารถถ่ายภาพที่ความละเอียด 48 ล้านพิกเซลได้ ซึ่งจะให้ภาพที่คมชัด เหมาะกับการถ่ายภาพในที่ที่มีแสงสว่างเพียงพอ โหมดนี้จะสามารถใช้ได้กับเลนส์หลักและเลนส์มุมกว้างเท่านั้น
โหมด Macro จัดว่าเป็นโหมดมาโครที่ประทับใจมากที่สุดในบรรดาสมาร์ตโฟนทั้งหมดที่เคยใช้มา เพราะว่าใช้งานง่าย แถมยังถ่ายได้ถึง 3 ระยะ ตั้งแต่ 0.6x ไปจนถึง 2x ทำให้ได้ภาพ Macro ในมุมมองที่หลากหลายมากขึ้น แถมรายละเอียดต่าง ๆ ก็จัดว่าทำได้แบบน่าประทับใจ
สำหรับฟิลเตอร์นั้นจะมีให้ด้วยกัน 4 แบบ ได้แก่ Matte, Vivid, B&W และ Photochrom ซึ่งของเด็ดมันอยู่ที่เจ้าฟิลเตอร์ตัวสุดท้ายนี่แหละครับ
เจ้าฟิลเตอร์ Photochrom นั้นมีไว้ใช้งานกับกล้อง Color Filter โดยเฉพาะ ซึ่งความพิเศษของเจ้ากล้องนี้คือตัดฟิลเตอร์อินฟราเรดออกไป ทำให้กล้องสามารถถ่ายทะลุพลาสติกที่ไม่มี IR Shield และวัสดุบางประเภทที่มีความโปร่งแสงได้

อันที่จริงแล้วโหมดนี้เขาแนะนำให้ใช้ถ่ายภาพทั่ว ๆ ไปนี่แหละครับ แต่มันก็คงจะดูธรรมดาไปหน่อย ก็เลยมีคนเอาไปถ่ายพวกสิ่งของต่าง ๆ เล่นกันสนุกสนาน และแน่นอนว่าต้องมีคนตั้งคำถามว่ามันสามารถถ่ายทะลุเสื้อผ้าได้หรือไม่ ทางเราก็เลยจับมาทดลองให้เห็น ๆ กันไปเลย ถ้าอยากรู้ว่าเป็นยังไง ถ่ายทะลุอะไรได้บ้าง เชิญรับชมได้ที่นี่ครับ
มาดูโหมด Portrait หรือว่าโหมดหน้าชัดหลังเบลอกันบ้าง โหมดนี้จะต้องถ่ายที่ระยะห่าง 2-7 ฟุตจากวัตถุ และมีโหมด Beauty มาให้สำหรับถ่ายภาพบุคคลด้วย
ด้วยความที่ช่วงนี้อยู่ตัวคนเดียวเลยลองถ่ายภาพคนไม่ได้ ต้องหาวัตถุใกล้ตัวมาลองสักหน่อย ก็ถือว่าเบลอแบบพอหอมปากหอมคอ ไม่ได้เบลอเว่อร์วังอะไรมาก
ในส่วนของ Nightscape หรือโหมดถ่ายภาพกลางคืนก็จัดว่าโหดพอตัว สามารถถ่ายภาพกลางคืนได้ดีไม่แพ้ใคร และถ้าหากมีขาตั้งกล้องก็จะสามารถเปิดหน้ากล้องได้นานขึ้นไปอีกด้วย
แต่ถ้าหากอยู่ในที่ที่มีแสงไฟอยู่บ้างก็ไม่แนะนำให้ใช้ เพราะลำพังแค่โหมดปกติก็ได้ภาพที่สว่างพออยู่แล้ว พอมาใช้โหมด Nightscape ก็จะรู้สึกว่าไม่ต่างกันสักเท่าไหร่
แต่โดยรวมแล้วการถ่ายภาพในที่แสงน้อยก็จัดว่าน่าประทับใจเลยล่ะ
และโหมด Pro สำหรับตั้งค่ากล้องเองก็ทำมาใช้งานได้ง่ายครับ มีการบอกการเอียงของกล้องและ Histogram ด้วย เรียกได้ว่าสะดวกสุด ๆ แถมสามารถเซฟไฟล์ได้ทั้ง JPG และ RAW รวมถึงถ่ายที่ความละเอียด 48 ล้านพิกเซลได้อีกด้วย

ในส่วนของการถ่ายวิดีโอก็จัดเต็มไม่แพ้กัน สามารถถ่ายวิดีโอแบบ HDR มีโหมดกันสั่น Super Stable ที่ใช้เลนส์มุมกว้างถ่าย ทำให้ได้วิดีโอแบบนิ่งสุด ๆ ที่เด็ดคือสามารถถ่ายวิดีโออัตราส่วน 21:9 ที่ความละเอียด 4K 60FPS ได้อีกด้วย
กล้องหน้าความละเอียด 16 ล้านพิกเซล
ในส่วนของกล้องหน้าก็ถือว่าทำออกมาได้ดีครับ แต่ไม่ได้มีฟีเจอร์ที่หวือหวามากเท่าไหร่เนื่องจากไม่ได้เน้นจุดขายในส่วนนี้ กล้องหน้าเป็นแบบ Fixed Focus สามารถปรับหน้าเนียนได้ 3 ระดับ และก็มีฟิลเตอร์กับโหมด Portrait เหมือนกับกล้องหลังเช่นกัน
ถ่ายทั่ว ๆ ไปก็เก็บรายละเอียดได้ดีเลย ลองสังเกตใบไม้ในภาพขวาดูจะเห็นว่ารายละเอียดดีมาก
ลองปรับหน้าเนียนไล่จากปิดไปจนถึงเนียนแบบขั้นสุด
Portrait
Warp Charge 30T รองรับชาร์จไร้สาย เป็นได้ทั้งผู้ให้และผู้รับ
OnePlus 8 Pro มาพร้อมกับระบบชาร์จไว Warp Charge ที่มีกำลัง 30 วัตต์

ทดลองจับเวลาชาร์จจาก 1-100% ใช้เวลาอยู่ที่ประมาณ 1 ชั่วโมงกับอีก 10 นาที ไวกำลังดี (ลองจับเวลา 2 รอบ ได้เวลาประมาณนี้เท่ากันทั้ง 2 รอบ)
รองรับการชาร์จไร้สายสูงสุดที่ 30 วัตต์เช่นเดียวกับการชาร์จแบบใช้สาย

แต่ในยุคนี้แค่ชาร์จไร้สายก็อาจดูธรรมดาไป OnePlus 8 Pro ยังมาพร้อมกับระบบ Reverse Charge สามารถชาร์จไฟกลับให้อุปกรณ์ที่รองรับมาตรฐาน Qi ได้อีกด้วย
สำหรับแบตเตอรี่นั้นให้มาที่ 4510 mAh ก็ถือว่าสมน้ำสมเนื้อกับชิป Snapdragon 865 มากเนื่องจากชิปนี้เป็นชิปที่มีอัตราการบริโภคแบตเตอรี่ที่โหดพอสมควร จากที่เคยใช้งานรุ่นอื่น ๆ ที่ใช้ชิปตัวนี้มาก็พบว่าแบตจะหมดไวเป็นเรื่องปกติแม้จะอยู่ในช่วงที่ไม่ได้ใช้งานหนักก็ตาม แต่สำหรับรุ่นนี้ก็ถือว่ารับมือกับเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี เพราะให้แบตเตอรี่มาเยอะไว้ก่อนเลยสามารถอยู่รอดได้ครบวันสบาย ๆ แต่ถ้าเล่นเกมแบบหนัก ๆ ก็คงจะอยู่ไม่ครบวันแน่นอน จากการทดลองเล่น PUBG MOBILE เป็นเวลาเกือบ 1 ชั่วโมงครึ่งพบว่าแบตเตอรี่ลดไป 20%
สรุป ดีงามตามท้องเรื่อง แต่ราคาแรงกว่าที่ผ่านมา
OnePlus 8 Pro เปิดตัวมาด้วยราคาค่าตัว 34,990 บาท นับว่าโหดมากเมื่อเทียบกับรุ่นก่อนหน้าอย่าง 7T Pro ที่เปิดมาด้วยราคา 26,990 บาท แต่ราคาที่แรงขนาดนี้มันมีที่มาที่ไป เพราะว่า Qualcomm บังคับให้แบรนด์ที่ใช้ Snapdragon 865 นั้นต้องพ่วงโมเด็ม 5G ไปด้วย ทำให้ปีนี้เราได้เห็นสมาร์ตโฟนที่ใช้ชิปตัวนี้พากันขึ้นราคาจากรุ่นก่อนหน้าอย่างพร้อมเพรียงกัน และแน่นอนว่าตอนที่วางขายก็ยังไม่พร้อมใช้งาน 5G กันแบบถ้วนหน้า

ถึงแม้ว่าอดีตนักฆ่าเรือธงจะกลายร่างเป็นเรือธงไฮโซไปแล้ว แต่การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ถือว่าไม่สูญเปล่า เพราะเป็นการยกระดับแบรนด์ให้พรีเมี่ยมมากขึ้นและทำออกมาได้น่าพึงพอใจมาก เรื่องสเปคยังคงจัดเต็มเช่นเคย ใช้งานได้ดีแบบไม่ต้องสงสัย หน้าจอก็ยังดีงามเป็นอันดับต้น ๆ ในเวลานี้ ส่วนเรื่องกล้องถึงแม้ว่าจะไม่ได้มีลูกเล่นล้ำ ๆ เท่ากับแบรนด์ที่เน้นด้านกล้อง แต่คุณภาพในภาพรวมสำหรับการถ่ายภาพทั่ว ๆ ไปก็จัดว่าทำออกมาได้น่าประทับใจเลยล่ะ
ถ้าเกิดคุณไม่ได้มีปัญหาที่จะซื้อสมาร์ตโฟนราคาสามหมื่นกว่าบาท OnePlus 8 Pro ก็ถือว่าเป็นตัวเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ ด้วยราคาค่าตัวที่แพงกว่า OPPO Find X2 อยู่ 1,000 บาททำให้รู้สึกว่าคุ้มค่าที่จะจ่ายเพิ่ม เพราะเซ็นเซอร์ของกล้องเลนส์หลักและเลนส์มุมกว้างนั้นก็เป็นตัวเดียวกับที่อยู่ใน OPPO Find X2 Pro เลย ส่วนกล้องซูมนั้นความสามารถก็พอ ๆ กันกับ OPPO Find X2 และได้ฟีเจอร์ชาร์จไร้สายเพิ่มมา แต่จะแพ้ก็ตรงความไวในการชาร์จที่ถือว่าห่างชั้นกันพอสมควร
สรุปแบบสั้น ๆ OnePlus 8 Pro จัดว่าเป็นสมาร์ตโฟนที่ดีแบบรอบด้าน ที่เหลือก็ขึ้นอยู่กับว่าคุณพร้อมที่จะจ่ายเพื่อครอบครองหรือไม่