ช่วงปี 2019-2020 ผู้บริโภคโดนสปอยล์ด้วยของ ‘สเปคเทวดา ราคายาจก‘ จากแบรนด์เร่งปั่น Market Share ทำตัวเลข ยอมขาดทุนกำไร เมื่อ Covid-19 เข้ามา ปี 2020 แบรนด์ไม่กระทบมากนัก เพราะรุ่นเตรียมวางขาย สั่งชิ้นส่วน ล็อคต้นทุนเรียบร้อย อย่างรุ่นที่ Success มากๆ เช่น Xiaomi Mi 10T Series, Galaxy A-Series (2020), realme Narzo ฯลฯ

กระทั่ง 2H 2021 หลายประเทศเริ่มคลาย Lockdown ความต้องการทุกอย่างเพิ่มขึ้น เงินเฟ้อ แต่กำลังผลิตไม่พอ คนงานขาดแคลน ซ้ำเติมด้วยวิกฤต ‘ชิปขาดตลาด‘ จากสินแร่ Rare Earth ผลิตจำกัด + ต้นทุนพุ่งกระฉูด ส่งผลต่อตลาดสินค้า IT อย่างหนัก หลายรายการปรับขึ้น / ของขาดตั้งแต่ต้นปี 2021 ด้วยซ้ำ

ฝั่งมือถือจะปรับราคาขึ้นก็ลำบากใจ โดยเฉพาะรุ่น ‘Mid-Tier‘ ลงมา เพราะกำลังซื้อแทบไม่ฟื้น คนซื้อก็หน้าเดิม กลุ่มเดิม หลายแบรนด์พยายามปรับกลยุทธ์เพื่อ ‘ความอยู่รอด‘ ต้องบอกนะครับว่าปัจจัยเกิดขึ้นเป็น ‘ปัจจัยภายนอก‘ เราควบคุมไม่ได้เลย ทั้ง Supply Chain, Global Demand แม้แต่ ‘อัตราแลกเปลี่ยน‘ ค่าเงินอ่อน ต้นทุนนำเข้าแพงขึ้นเยอะ

- เหล้าเก่าในขวดใหม่ – บอดี้ใหม่ สีใหม่ แต่สเปคแทบไม่ต่างรุ่นก่อน ฝั่ง User ที่ไม่ได้ติดตามข่าวไม่ทราบเรื่องนี้ แต่คนตามข่าวหน่อยจะทราบดี ทีมงานเข้าใจได้
- ลากให้ไกลที่สุด – เดิม Product 1 รุ่นอาจขายวางจำหน่าย 4-6 เดือน อาจลากนานกว่านั้น โดยเพิ่มสีใหม่ – ความจุ / แรม ขายราคาเดิมหรืออัพราคานิดหน่อย
- ยำรวมมิตร – เป็นการนำฮาร์ดแวร์เดิม ผสมของใหม่ = Minor Update อาจขายเป็นรหัสใหม่เลยก็ได้
- เลื่อน / ยกเลิก – กรณี Worst Case บางรุ่นมีการเลื่อนเปิดขาย / ยกเลิกวางจำหน่าย เหตุผลแบรนด์ตัดใจเลือกรุ่นที่คิดว่า ‘ขายได้ชัวร์’ หรือทำกำไรมากที่สุดก่อน

ปัญหาเจอกันทุกค่ายนะครับ จะค่ายเล็ก ค่ายใหญ่ ขนาด Apple คุม Supply Chain เบ็ดเสร็จยังยอมลดจำนวนการผลิตลง ก็ของมันไม่พอจริงๆ และต้องควบคุมต้นทุนเหมาะสม ทำให้บางรุ่นรอของนานกว่าปกติ อย่าง iPhone 13 Pro / Pro Max ปัจจุบันรอเครื่อง 1 เดือน (เครื่องเปล่า) ที่มีตาม Shop บังคับผูกแพคเกจทั้งหมด

สิ่งที่คาดว่าเกิดขึ้นในปี 2022
1.) โปรโมชั่นลดราคา (ตาม Online Platform) จะน้อยลง จากต้นทุนขายเพิ่มขึ้น เหลือช่องว่างราคา (Price Gap) ลดแลกแจกแถมน้อยลงกว่าเดิม นอกจากเอางบอื่น Subsidize ให้ราคาถูกลง รวมถึง Coupon Code ซึ่งมองว่าเป็นการ ‘บิดเบือนราคา‘ อย่างนึง แต่ผู้บริโภคได้ประโยชน์แหละ
2.) รุ่นใหม่เปิดตัวลดลง จากเดิม 1 ไตรมาสเปิด 8-10 รุ่น (ทุกค่าย) อาจเหลือ 3-5 รุ่น เนื่องจาก Supply ปริมาณจำกัด หรือนำรุ่นเก่าปัดฝุ่นขายใหม่ (ล็อตใหม่) ช่วงนี้ผมเริ่มเห็นแล้ว เพื่อรักษายอดขาย และธุรกิจไม่ขาดตอน ระหว่างรอรุ่นใหม่ หรือ Flagship ที่ยังคงปีละ 2 รุ่น ถือว่าเป็น Hero Product ของมันต้องมี !
3.) สเปคแย่ลง ราคาเท่าเดิม-แพงขึ้น ตรงนี้ผมพูดช่วงแรกแล้วว่า Consumer โดนสปอยล์มานาน เป็นดาบสองคมที่แบรนด์ขยับตัวยากมาก ปัจจัยเรื่อง ‘ค่าเงินอ่อน’ มีผลเช่นกัน ราคาของปรับขึ้น 10-15% ส่วนนึงมาจากค่าเงินด้วย
4.) ของมาน้อย อยากได้ต้องซื้อเลย อย่าง iPhone 13 Pro, Pixel 6 Pro, Galaxy Z Fold3 ฯลฯ ของเข้าล็อตแรกจำกัด หมดแล้วรอยาว หรือมีเงื่อนไขการซื้อเพิ่มขึ้น (บังคับเปิดเบอร์ / ไม่มีของแถม โปรโมชั่น) น่าจะเป็นกับ Flagship ที่เปิดตัวช่วงปี 2022 ด้วย
5.) ตลาดมือสองเฟื่องฟู ด้วยเหตุผลหลักคือ รุ่นปี 2019-2020 สเปคดีกว่ารุ่นใหม่ สภาพยังโอเค ราคาถูกกว่าเครื่องใหม่ซะอีก อย่างไรก็ตาม หาก Product Cycle รุ่นนั้นยาวนาน ควรเลือกซื้อที่มีประกันเหลือ (อย่างน้อย 3-6 เดือน) และศึกษาปัญหาเฉพาะรุ่นด้วย
อย่างไรก็ตาม ตลาดมือสองออนไลน์ มีเหตุฉ้อโกงบ่อยครั้ง อย่าโลภของถูก อย่ารีบตกลงซื้อ ทางที่ดีให้ผ่าน Shopee / ผ่านกลาง หรือหาตามร้านตู้ก็ไม่ได้แย่

ปัญหานี้กระทบกับสินค้า IT อื่นๆ ทั้ง PC, Tablet, Network ฯลฯ เจอสภาพไม่ต่างกัน ‘ขาดตลาด – ราคาแพง – ตัวเลือกจำกัด’ นักวิเคราะห์ต่างประเทศมองว่า สถานการณ์นี้เริ่มคลี่คลายเร็วสุดปี 2023-2024 เมื่อผู้ผลิต Semi-Conductor ขยายกำลังผลิตเพิ่ม / Covid ควบคุมได้ (อยู่แบบ New Normal) และปัญหาการผลิต Rare Earth ของจีนได้รับการแก้ไข
อ่านถึงตรงนี้ ใครตัดสินใจซื้อมือถือ สินค้าไอที เจอของถูกใจก็ซื้อเลยครับ ไม่ต้องรอ 🙂