อยากเลี้ยงปลากัด แล้วมือใหม่ต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้างนะ ? แน่นอนว่าก่อนที่เราจะเริ่มต้นเลี้ยงปลากัด เราก็ควรที่จะต้องรู้ข้อมูลของสัตว์ที่เราต้องรับผิดชอบ สิ่งมีชีวิตก็จะต้องมีการเกิด แก่ เจ็บ ป่วย ตาย เป็นเรื่องธรรมดา ฉะนั้น เราผู้เป็นเจ้าของ จึงจำเป็นที่จะต้องรู้วิธีรับมือกับสถานการณ์ต่าง ๆ ของปลากัด เพราะหากเกิดสถานการณ์ฉุกเฉินเราจะได้รับมือได้ทันท่วงทีค่ะ
สำหรับในบทความนี้จะเป็นการที่เราลองค้นคว้าวิธีการเลี้ยงจากแหล่งข้อมูลที่เราเชื่อถือก่อนจะเริ่มต้นเลี้ยงปลากัด ซึ่งส่วนใหญ่แล้วบอกตรงกัน บวกกับบางอย่างทดลองทำเองแล้วออกมาได้ผลจริง โดยเฉพาะเรื่องการเตรียมสภาพน้ำ โดยขั้นตอนหลัก ๆ จะมีดังนี้เลยค่ะ
ส่วนใครที่อยากอ่านประวัติของปลากัดเพิ่มเติม เรารวบรวมมาให้แล้วที่บทความนี้ >> ทำความรู้จักปลากัด สัตว์เลี้ยงตัวน้อยที่คู่บ้านคนไทยมาแต่โบราณ ลองเข้ามาอ่านกันก่อนได้นะคะ หรือถ้าใครมีคำแนะนำอื่นใดเพิ่มเติมก็คอมเมนท์บอกกันได้เลยนะคะ

5 ปัจจัยหลักของการเริ่มต้นเลี้ยงปลากัด
สำหรับการเลี้ยงปลากัดนั้นจะมีรายละเอียดสำคัญที่จำเป็นต้องใส่ใจหลัก ๆ อยู่ 5 อย่าง ซึ่งนั่นก็คือ สภาพน้ำ อาหาร ภาชนะ การออกกำลังกาย และการปฐมพยาบาล เพราะ 5 สิ่งนี้เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ปลากัดของเรามีความสุขและอยู่กับเราได้ยืนยาวค่ะ อาจมีหลายคนเคยเข้าใจว่า เพียงแค่นำปลามาใส่โหล ใส่น้ำจากก๊อก ก็จบ หรือใส่ใบหูกวางเข้าไปหน่อยก็จบ สักพักก็พบปัญหาว่าปลาป่วยบ้าง ครีบเครื่องลีบลู่ ปลาไม่สดใสบ้าง เพราะเกิดจากมีปรสิต หรือเชื้อราปนเปื้อนอยู่ในใบหูกวาง เนื่องจากล้างใบหูกวางไม่สะอาด หรือใช้น้ำประปาที่ไม่ได้พักน้ำอย่างน้อย 2-3 วันมาใช้เลี้ยงปลา ทำให้คลอรีนกัดตัวปลา ซึ่งปลาจะค่อย ๆ ครีบเครื่องลีบแบน เหี่ยวเฉา ป่วย และหากรักษาไม่ทันก็จะตายในที่สุด
อีกหนึ่งข้อที่ห้ามลืมอย่างเด็ดขาดก็คือ เมื่อปลากัดมาถึง เราต้องนำเค้าแช่น้ำทั้งถุงเดิมเพื่อทำการปรับสภาพน้ำ หลังจากนั้นค่อย ๆ แยกตัวปลากัดออกจากน้ำเก่าและใส่ลงในตู้ใหม่ ห้ามใส่น้ำเดิมตามมา เพราะเราไม่รู้ว่าเจ้าของเก่าเลี้ยงมาอย่างไร และใช้น้ำที่มีปรสิต เชื้อโรค เชื้อรา ปะปนมาหรือไม่ รวมทั้ง ห้าม ให้อาหารทันที เพราะระหว่างเวลาที่เคลื่อนย้ายปลากัดนั้น ระบบการย่อยอาหารของปลาจะทำงานได้ไม่เต็มที่ หากให้อาหารทันที จะทำให้ปลาท้องอืดหรือน็อคน้ำตายได้ค่ะ
สภาพน้ำ

ควรพักน้ำไว้ 2-3 วัน ไม่ควรให้มีคลอรีนหลงเหลือ เนื่องจากคลอรีนจะกัดปลากัด ทำให้ปลากัดมีภาวะตาเป็นฝ้า และป่วยได้
รวมถึงหมั่นดูแลสภาพน้ำให้อยู่ในระดับอุณหภูมิและค่า pH ที่เหมาะสม
น้ำ เปรียบเสมือนโลกทั้งใบของปลากัด ฉะนั้นน้ำและความสะอาดของน้ำจึงเป็นทุกสิ่งทุกอย่างสำหรับเค้า การหมั่นควบคุมคุณภาพน้ำให้มีอุณหภูมิ, ค่า pH และแร่ธาตุที่เหมาะสม สะอาด ไม่ปนเปื้อนหรือสกปรก จึงมีความสำคัญยิ่งสำหรับปลากัด โดยน้ำที่เหมาะสมแก่การนำมาเลี้ยงปลากัดมากที่สุดคือ น้ำประปาที่ถูกพักไว้ 3 วัน หรือ Tannic Goldenbetta เพราะในน้ำประปาจะมีธาตุสำคัญ ๆ อย่างแมกนีเซียมและแคลเซียม ซึ่งเป็นธาตุที่ปลากัดสามารถดูดซึมได้ดี
การที่เราจำเป็นต้องพักน้ำไว้อย่างน้อย 3 วัน จุดประสงค์เพื่อให้คอลรีนระเหยออกจนหมดก่อนจะนำมาใช้เลี้ยงปลากัด เพราะคลอรีนนั้นสามารถส่งผลเสียต่อปลากัดได้ หลังจากนั้นจึงใส่ ใบหูกวางแห้ง, น้ำใบหูกวางต้ม หรือ Tannic Goldenbetta ทุกข้อที่กล่าวมาคุณสามารถเลือกใช้ได้ตามได้สะดวกเลยนะคะ

ไม่ใช่เกลือบริโภคที่เราใช้รับประทาน
ในผู้เลี้ยงบางคนอาจมีการใส่เกลือทะเลร่วมด้วย เนื่องจากปลากัดเป็นปลาน้ำกร่อย การเพิ่มเกลือทะเลแบบไม่เสริมไอโอดีนลงไปจะช่วยในการลดความเครียดของปลากัด และทำให้ปลากัดตื่นน้ำน้อยลง ทั้งนี้ควรตรวจค่า pH ของน้ำก่อนเติมเกลือลงไปด้วยนะคะ และขอย้ำว่าต้องเป็นเกลือทะเลแบบไม่เสริมไอโอดีน ไม่ใช่เกลือบริโภคเสริมไอโอดีนนะคะ
และที่สำคัญคือ ห้ามนำน้ำที่ใช้ดื่มกินมาใช้เลี้ยงปลากัดอย่างเด็ดขาด เนื่องจากน้ำที่เราใช้ดื่มกิน เป็นน้ำที่กรองธาตุโลหะหนักออก เพื่อให้มนุษย์สามารถใช้ดื่มกินได้ ต่อให้เรานำน้ำดื่มกินของเรามาเลี้ยงปลากัดได้ ปลากัดก็จะไม่โต และอาจครีบเครื่องห่อเหี่ยว ดูป่วย และไม่ร่าเริงได้ค่ะ
สำหรับเราที่ไม่สะดวกใช้ใบหูกวาง เราจึงเลือกใช้สารแทนนินสกัดของทาง Goldenbetta ที่มีชื่อผลิตภัณฑ์ว่า “Tannic” ดังที่แนะนำไปข้างต้น เพื่อเสริมประสิทธิภาพน้ำและสลายคลอลีนทันทีที่ใส่ลงไป แอบบอกนิดนึงว่าทางแบรนด์มีให้เลือกตามชอบใจทั้งแบบน้ำและแบบผงเลยค่ะ ใครสนใจสามารถเข้ามาชมสินค้าได้ที่แอปพลิเคชั่น Goldenbetta (iOS) | Goldenbetta (Android) ได้เลยค่ะ หรือหากใครชอบสั่งซื้อผ่าน Shopee และ Lazada แบบเรา ก็สามารถเข้าไปซื้อได้อีกเช่นกันค่ะ
อาหารปลากัด

สำหรับปลากัดโตนั้นพวกเขาสามารถกินอาหารเม็ดได้ตามปกติ ในผู้เลี้ยงบางคนอาจให้อาหารสด อาหารแช่แข็ง หรืออาหารสดอบแห้ง อย่างไรก็ดีหากเป็นปลากัดวัยรุ่นที่ซื้อมา ผู้เลี้ยงควรสังเกตพฤติกรรมปลากัดของตนเองด้วยว่าพวกเขามีพฤติกรรมการกินแบบไหน หรือชอบกินอะไรเป็นพิเศษ เพราะปลากัดแต่ละตัวอาจชอบไม่เหมือนกัน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ส่วนใหญ่แล้วปลากัดที่เลี้ยงมาจากในฟาร์มมักจะชอบกินอาหารเม็ด บ้างก็ไรแดง แต่เดี๋ยววันนี้เรามาทำความรู้จักอาหารปลากัดกันดีกว่าค่ะว่าพวกเขาสามารถกินอะไรได้บ้าง
ไรแดง

ไรแดงเป็นหนึ่งในอาหารสดที่นิยมใช้ในการเพาะเลี้ยงปลาน้ำจืด ลักษณะตัวกลมป้อมสีน้ำตาล สามารถหาได้ตามแหล่งน้ำจืดธรรมชาติ หากใครไม่อยากออกไปช้อนไรแดงเองก็สามารถซื้อจากร้านขายอาหารสัตว์น้ำได้ และถ้าหากใครไม่อยากออกไปซื้อที่ร้าน ก็สามารถหาซื้อออนไลน์ได้จากร้านร้านค้าในแอปพลิเคชั่น Shopee และ Lazada ได้อีกเช่นเดียวกัน
ส่วนใครที่มองว่าการซื้อไรแดงสำเร็จรูปนั้นเสียไว เก็บยาก และมีกลิ่น อาจหาไรสดมาเพื่อทำการเพาะไรแดงเองก็ได้ ปัจจุบันมีหัวเชื้อน้ำเขียวเพาะไรแดงขายในออนไลน์ก็ยิ่งทำให้ง่ายขึ้นไปอีก เพียงแต่อาจต้องหาไรแดงสดมาให้ได้ เพราะการซื้อไรแดงสดผ่านช่องทางออนไลน์นั้นต้องใช้เวลาในการจัดส่ง อาจทำให้ไรแดงที่มาถึงนั้นตายหรือมีคุณภาพไม่ดีเท่าที่ควร
ลูกน้ำ

ลูกน้ำเป็นอีกหนึ่งเมนูที่ปลากัดชอบเพราะมีโปรตีนสูง แต่เดิมพวกเขาสามารถหากินได้ตามแหล่งน้ำธรรมชาติ เช่นเดียวกับไรแดง อาร์ทีเมีย และไรน้ำนางฟ้า การให้ลูกน้ำเป็นอาหารปลากัดนิยมให้เป็นลูกน้ำแบบเพาะเลี้ยงเองมากกว่า เหตุผลคือการเพาะเลี้ยงเองจะมีความสะอาดมากกว่าจับมาจากแหล่งน้ำอื่น
ข้อดีของการเพาะลูกน้ำไว้ให้ปลากัดกินเองคือประหยัดต้นทุนอาหารปลา ประหยัดเวลาในการจัดหาอาหารให้ปลากัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ที่เลี้ยงปลากัดในปริมาณมาก ๆ หรือเป็นฟาร์ม อาจไม่สะดวกในเรื่องต้นทุนของอาหาร การเพาะลูกน้ำให้ปลากัดกินเองจึงเป็นทางออกที่ดี อีกทั้งยังประหยัดพื้นที่ เพราะสามารถเพาะที่ใดก็ได้ เช่น กะละมัง ถังน้ำ ขวดน้ำ ฯ
ในกรณีที่จับมาจากแหล่งน้ำอื่น ควรนำมาล้างด้วยน้ำผสมด่างทับทิมเจือจาง และล้างน้ำสะอาดอีกหลาย ๆ ครั้งเพื่อลดค่าความเป็นด่าง ก่อนนำมาให้ปลากัดกิน และควรให้ปลากัดกินให้หมดภายใน 2-3 วัน ก่อนลูกน้ำจะกลายเป็นยุง
หนอนแดง

หนอนแดงเป็นตัวอ่อนของริ้นน้ำจืด มีสีแดง อาศัยอยู่ในพื้นที่ชุ่มน้ำ นิยมใช้เป็นเหยื่อของปลาสวยงาม สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายอาหารสัตว์น้ำ ปัจจุบันมีให้เลือกทั้งแบบสด แบบแช่แข็ง และแบบอบแห้ง
หัวใจวัว

หัวใจวัวหรือ Beef Heart มีโปรตีนสูง ใช้ในการเลี้ยงปลากัดหรือปลาสวยงามอีกเช่นกัน ปัจจุบันมีผู้ผลิตทำออกมาแบบพร้อมใช้ให้เลือกซื้อกันแล้ว หัวใจวัวจะช่วยเร่งการเจริญเติบโตและมีโปรตีนสูงมาก เชื่อกันว่าหากเลี้ยงปลาด้วยการให้กินหัวใจวัว ทรงปลาจะสวย สีสดใส เหลือบมุกชัดเจน แต่ส่วนตัวเรายังไม่เคยลองนะคะ
อาหารเม็ด

อาหารเม็ดถือเป็นอาหารหลักของปลาสวยงามในปัจจุบันเลยก็ว่าได้ เพราะสามารถหาได้ง่ายและมีหลายราคา อีกทั้งยังมีสูตรอาหารหลากหลายสูตรให้เลือกกันอย่างจุใจ เรียกง่าย ๆ ว่าอาหารเม็ดถือเป็นอาหารสามัญประจำบ้านของผู้ที่เลี้ยงปลากัดเลยก็ว่าได้ค่ะ สำหรับการเลี้ยงปลากัด ผู้เลี้ยงควรพิจารณาเพิ่มเติมด้วยว่าอาหารเม็ดยี่ห้อที่เลือกนั้นมีคุณค่าทางโภชนาการเหมาะสมหรือไม่ มีโปรตีนมากน้อยเพียงใด เนื่องจากปลากัดเป็นสัตว์กินเนื้อ จำเป็นต้องได้รับโปรตีนและพลังงานที่เพียงพอในแต่ละวัน
สำหรับการเลือกอาหาร ควรเลือกอาหารที่มีปริมาณโปรตีน 40% ขึ้นไปถือว่าใช้ได้ ยิ่งใครสามารถให้อาหารสดอย่างลูกน้ำควบคู่ไปด้วยวันละ 1-2 ตัว ก็จะถือว่าเยี่ยมเลย เพราะอาหารสดนั้นมีโปรตีนสูง และปลากัดไม่ชอบเหยื่อที่ลอยนิ่ง ๆ พวกเขาชอบการล่า
ส่วนตัวผู้เขียนเลือกใช้ อาหารเม็ดจาก Goldenbetta เนื่องจากมีปริมาณโปรตีนสูงถึง 70% และสามารถใช้แทนอาหารสดได้ ยิ่งใช้ควบคู่กับ วิตามินเสริม Aminovita ก็ยิ่งได้ผลลัพธ์ที่พึงพอใจ และปลากัดก็แข็งแรงดีมาก เนื่องจากผู้เขียนไม่สะดวกหาอาหารสดมาเก็บไว้นั่นเอง
การให้อาหารปลากัด ควรให้วันละ 1-2 ครั้งตามความเหมาะสม จะดีมากขึ้นไปอีกถ้าให้อาหารอย่างเป็นเวลา เพราะปลากัดมักจะมีปัญหากับระบบการย่อย ท้องไส้ไม่ค่อยดี ดังนั้นการให้อาหารเป็นเวลาก็พอจะช่วยเรื่องการกินหรือลดปัญหาท้องอืดของพวกเขาได้ระดับหนึ่ง แต่ถ้าหากใครใช้ Goldenbetta Feed ควบคู่กับ Aminovita ก็ลดจำนวนครั้งการให้อาหาร ให้เหลือแค่วันละ 1 ครั้งพอ เนื่องจาก Goldenbetta มีทีมนักโภชนาการอาหารสัตว์ช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์ ทำให้ Goldenbetta Feed มีโปรตีนเพียงพอที่ปลากัดควรจะได้รับใน 1 วันแล้ว
อีกหนึ่งคำถามที่พบบ่อยคือ “ไปต่างจังหวัดหลายวัน ปลากัดจะหิวตายไหม” ต้องบอกอย่างนี้ค่ะว่า ไม่ต้องกังวลไป “ปลากัดสามารถไม่กินอาหารได้นาน 5 วัน ถึง 1 สัปดาห์” เลยค่ะ เนื่องจากต้นตระกูลของปลากัดนั้นอดทนมาก พวกเขาอาศัยอยู่ในคู คลอง หนองน้ำตื้น บ้างก็อาศัยอยู่ในปลักตีนควาย หาอาหารแบบนักสู้ บางทีอาจขาดอาหารนานถึง 2 สัปดาห์ เมื่อพบแหล่งอาหารพวกเขาจะใช้วิธีการกินตุนมาก ๆ จนพุงป่อง ฉะนั้นความทรหดอดทนนั้นเค้าถ่ายทอดผ่านทางพันธุกรรมกันมาอยู่แล้วค่ะ ถึงแม้จะเป็นสายพันธุ์ที่ถูกพัฒนาขึ้นมาใหม่อย่าง ฮาล์ฟมูน (Halfmoon Betta) หรือ หางมงกุฏ (Crowntail Betta) ก็ตาม อย่างไรเสียพวกเขาก็ยังคือปลากัด ยังคงมีความอึดอยู่ในสายเลือดอยู่เช่นเดิม เพียงแต่เมื่อเป็นปลากัดเพาะเลี้ยง ถึงแม้สัญชาติญาณตามธรรมชาติยังคงอยู่ พวกเขาก็ต้องปรับตัวให้เข้ากับพวกเรานั่นเองค่ะ
ภาชนะ

สำหรับภาชนะในการใส่ปลากัด ในหมู่ผู้เลี้ยงมักจะเรียกว่า “เหลี่ยมปลากัด” ถ้าจะให้ดีควรเลือกภาชนะที่กว้างพอที่ปลากัดจะยังสามารถพองครีบเครื่องได้อย่างเต็มที่ และให้เขาได้ว่ายไปไหนมาไหนได้บ้าง เพราะถึงแม้ปลากัดจะชอบอยู่ตัวเดียวในมุมเล็ก ๆ แต่ปลากัดก็มีพฤติกรรมชอบพองครีบเครื่องและว่ายวนไปรอบ ๆ โหลหรืออ่างเช่นกัน
อีกทั้งปลากัดยังมีพฤติกรรมชอบดูมนุษย์ทำกิจกรรมต่าง ๆ เพราะมนุษย์นั้นเคลื่อนไหวและแต่งตัวมีสีสัน ทำให้เป็นที่สนใจของปลากัด ทางที่ดีควรตั้งเหลี่ยมพวกเขาไว้ในมุมที่คนในบ้านมักจะมาใช้เวลาอยู่ด้วยกันมากที่สุดหรือมุมที่ปลากัดสามารถมองเห็นมนุษย์ได้เรื่อย ๆ อีกทั้งปลากัดยังชอบให้มนุษย์มามีปฏิสัมพันธ์ด้วย และพวกเขายังสามารถจดจำเจ้าของได้อีกต่างหาก แต่อย่างไรก็ตาม การที่มนุษย์พูดคุยหรือยุ่งกับพวกเขามากเกินไปก็อาจทำให้พวกเขาเบื่อได้อีกเช่นเดียวกัน ควรปล่อยให้พวกเขาหลบไปมีเวลาส่วนตัวบ้าง
ขนาดโหลที่เหมาะสมควรพิจารณาจากขนาดของปลากัด เนื่องจากปลากัดแต่ละไซซ์นั้นไม่เท่ากัน โดยจะมีไซซ์ที่ขายกันแบบที่พบเห็นได้บ่อย ดังนี้
- ปลากัดไซซ์ Mini ขนาดเริ่มต้น 1 นิ้ว เหมาะกับเหลี่ยมปลากัดขนาด 3x3x6 ขึ้นไป
- ปลากัดไซซ์ Medium ขนาดเริ่มต้น 1.5 นิ้ว เหมาะกับเหลี่ยมปลากัดขนาด 4x4x8 ขึ้นไป
- ปลากัดไซซ์ Normal ขนาดเริ่มต้น 2 นิ้ว เหมาะกับเหลี่ยมปลากัดขนาด 5x5x8 ขึ้นไป
- ปลากัดไซซ์ Jiant ขนาดเริ่มต้น 2.3 – 3 นิ้ว เหมาะกับเหลี่ยมปลากัดขนาด 8x12x8 ขึ้นไป
แต่อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้ควรพิจารณาปัจจัยโดยรอบเป็นส่วนประกอบด้วย เนื่องจากปลากัดเป็นปลาหวงถิ่น มีนิสัยพาล และอยู่ร่วมกับสัตว์ชนิดอื่นได้ยาก และยิ่งกัดกันแหลกในหมู่เพศผู้ด้วยกันเอง (จะกัดกันน้อยลงในกรณีที่เลี้ยงรวมในคอกเดียวกันมาตั้งแต่กำเนิด มีพื้นที่กว้างขวางเพียงพอ มีพืชน้ำให้หลบ และไม่เคยแยกพวกเขาออกจากกันเลย) ฉะนั้นการจะเลี้ยงปลากัดด้วยเหลี่ยมใหญ่ อาจมีหลายคนที่ไม่สะดวกในแง่ของพื้นที่ ฉะนั้นขอให้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของคุณเองว่าสะดวกแค่ไหน อย่างไร ปลากัดไม่ใช่สัตว์เลี้ยงยาก ฉะนั้นอย่าซีเรียสจนเกินไป ขอแค่ปลากัดยังดูแข็งแรง ได้กินอาหารที่ดี รักษาสภาพน้ำให้เหมาะสมและสะอาดอยู่เสมอ ก็น่าจะเพียงพอแล้วสำหรับปัจจัยขึ้นพื้นฐานของปลากัด
ข้อห้ามที่ห้ามทำในการเลี้ยงปลากัด
- อย่ากวนน้ำ เพราะพวกเขาอาจตกใจหรือเครียดได้
- ควรวางเหลี่ยมหรือภาชนะเลี้ยงปลากัดไว้บนที่ที่แข็งแรงและถูกกระทบกระแทกน้อย เนื่องจากปลากัดไวต่อคลื่นเสียงและการสั่นสะเทือนมาก แค่แรงสั่นของฝีเท้าเข้าห้องของเราก็มากพอที่จะทำให้พวกเขารีบว่ายหน้าตั้งจากที่ซ่อนออกมาหาคุณแล้ว
- ไม่ควรวางไว้ชิดผนังเกินไป เพราะจิ้งจกจะมากินปลากัด ทางที่ดีควรใช้เหลี่ยมแบบมีฝาปิด
- ไม่ควรวางไว้ในที่ที่มีแดดจัด ร้อนจัด หรือเย็นจัด (15 องศา ถึง 28 องศา คืออุณหภูมิน้ำที่ปลากัดยังสามารถอยู่ได้สบาย) หากร้อนเกินไปปลากัดจะตาย และหากเย็นเกินไปปลากัดจะเริ่มเคลื่อนไหวช้าลงเนื่องจากต้องรักษาพลังงาน ปลากัดเป็นสัตว์ที่ไม่มีเอนไซม์ในการช่วยรักษาอุณหภูมิในร่างกายแบบมนุษย์หรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดอื่น อุณภูมิจึงค่อนข้างกำหนดชีวิตปลากัดอีกเช่นกัน
การออกกำลังกายปลากัด

ปลายคนคงสงสัยว่าปลากัดจำเป็นต้องออกกำลังกายด้วยหรือ บอกเลยว่าจำเป็นค่ะ ต้องทำความเข้าใจก่อนว่าปลากัดเป็นปลานักสู้ เมื่อได้สู้ก็จะได้พองครีบเครื่อง แต่เมื่อพวกเขาไม่ได้สู้หรืออยู่ตัวเดียวในโหลนาน ๆ ไร้ศัตรูให้หมายมอง เขาจะเริ่มมีอาการเหงา ซึม ป่วย และเมื่อครีบเครื่องของเขาไม่ได้กางออกนาน ๆ ก็อาจส่งผลให้กางออกไม่ได้อีกเลยค่ะ ฉะนั้น เราจึงจำเป็นต้องให้พวกเขาได้กางครีบเครื่องอย่างเต็มที่
วิธีการพาปลากัดออกกำลังกาย นิยมใช้อยู่ 3 วิธีคือ
- ในกรณีที่เลี้ยงมากกว่า 2 ตัวขึ้นไป ให้เอาที่กั้นออก ให้พวกเขาพองใส่กัน วันละ 15 นาที ถึงครึ่งชั่วโมง ไม่ควรนานกว่านั้นเพราะเค้าอาจเหนื่อยได้ เมื่อปลากัดเห็นคู่ต่อสู้ ปลากัดจะได้ยังมีสัญชาติญาณนักสู้อยู่และไม่หดหู่หรือเหงาจนเกินไป ครีบเครื่องของเขาก็จะยังได้ทำงาน และยังพองกางได้สวยอยู่เสมอ
- ในกรณีที่เลี้ยงตัวเดียว อาจใช้วิธีเอากระจกไปตั้งเพื่อให้เขามองเห็นตัวเอง เขาจะได้คิดว่าเห็นคู่ต่อสู้อยู่และพองใส่ค่ะ
- ใช้ไม้หรือดินสอ ปากกา ในการจิ้มไปที่เหลี่ยมปลากัด ให้เขามองเห็นและตื่นตัว เขาจะคิดว่าเป็นศัตรูหรือสิ่งแปลกปลอม และทำการพองใส่อีกเช่นเดียวกันค่ะ
การปฐมพยาบาลปลากัด

ปลากัดเป็นสิ่งมีชีวิต แน่นอนว่าก็ต้องมีอาการป่วย และเมื่อปลากัดป่วย ก็จะมีวิธีสังเกตง่าย ๆ ดังนี้
- ปลากัดซึม ไม่ว่ายค่อยว่ายน้ำ ไม่ร่าเริงแจ่มใส
- ปลากัดไม่พองใส่คู่ต่อสู้ มีอาการหลบ หนี ถอดสี และหวาดกลัว
- ปลากัดขับเมือกออกมาทั่วผิวน้ำ
- ปลากัดมีอาการตาโปนน่ากลัวผิดปกติ
- ปลากัดมีอาการผิวหนังไม่ปกติ เกล็ดร่อน เนื้อรุ่ย มีขุยสีขาว ปากบวมพองสีแดง ลำตัวช้ำเลือดช้ำหนอง
- ปลากัดมีอาการครีบ เครื่อง หางกร่อน ดูเป็นรอยเน่า ไหม้ สีดำ หรือหางเป็นรู
- ปลากัดกัดหางตัวเอง
- ปลากัดท้องโตผิดปกติ
- ปลากัดเกล็ดพอง
- ปลากัดมีสีสนิมเกาะตามลำตัว
- ปลากัดมีจุดสีขาวขึ้นตามตัว
- ปลากัดครีบเครื่องห่อลีบ ไม่พองกาง
อีกหนึ่งข้อที่มักจะเจอในหมู่ผู้เลี้ยงปลากัด แต่ไม่ถือว่าเป็นอาการป่วย นั่นก็คือ “อาการปลากัดตาเป็นฝ้า” เกิดจากใช้น้ำที่มีคลอรีนสูงเลี้ยงปลากัด ทำให้เกิดฝ้าที่ตาของปลากัดนั่นเอง ถึงแม้จะไม่ทำให้ป่วยถึงตาย แต่อาการต่อมาคือครีบเครื่องจะห่อ และปลากัดจะไม่ร่าเริง ทางที่ดีควรใช้น้ำที่ปราศจากคลอรีน ตามด้วยใบหูกวาง หรือใช้ Tannic Goldenbetta ดังที่บอกไว้ข้างต้น
12 ข้อด้านบน เป็นโรคที่มักจะเกิดขึ้นกับปลากัด ดังนั้นเราควรที่จะมีขั้นตอนการปฐมพยาบาลพื้นฐานเตรียมไว้ให้พร้อมอยู่เสมอ ซึ่งยาที่ถือเป็นยาสามัญประจำบ้านของปลากัดและเป็นที่นิยมนั้นคือ ยาเหลือง,เกลือทะเล,ใบหูกวาง หรือ น้ำแทนนิค ส่วนตัวผู้เขียนใช้ยาเหลืองยี่ห้อ อะควาติก บี และ Power Treat ของ Goldenbetta โดยยาเหลืองนั้นค่อนข้างจะรักษาโรคปลากัดข้างต้นได้พอสมควรแล้วค่ะ หลังจากนั้นเราก็จะค่อย ๆ มาพิจารณาดูว่าปลากัดเราป่วยอย่างไรบ้าง มากหรือน้อยแค่ไหน ป่วยจากภายนอกหรือภายใน และหาวิธีการรักษาอย่างเหมาะสมกับอาการป่วยของปลากัดแต่ละตัวกันต่อไป
สำหรับวิธีการรักษาปลากัดป่วยเบื้องต้นนั้น มีขั้นตอนเบื้องต้น ดังนี้
- นำโหลใหม่มาแยกใส่ปลากัดที่ป่วยไว้ ใส่น้ำประปาสะอาดปราศจากคลอรีนโดยใช้ความลึกเพียง 1-2 นิ้วก็เพียงพอ (กะเอาจากความสูงของปลากัดของคุณเอง) ปลากัดจะได้ไม่ต้องเหนื่อยว่ายขึ้นมาฮุบอากาศบนผิวน้ำ จะใช้น้ำประปาที่กักทิ้งไว้ 2-3 วัน แล้วใส่ใบหูกวาง หรือจะใช้ Tannic Goldenbetta ก็ได้
- หลังจากนั้น พิจารณาอาการป่วยของปลากัดว่าเป็นโรคอะไร ป่วยจากภายนอกหรือภายใน ร้ายแรงแค่ไหน อยู่ในขั้นใดแล้ว สามารถทำการรักษาเองได้หรือไม่
- เมื่อรู้แล้วว่าปลากัดเราป่วยเป็นอะไร อยู่ในระดับใด ก็ให้ใส่ยาตามปริมาณที่ฉลากกำหนดไว้ ไม่จำเป็นต้องเป็นยาเหลืองอย่างเดียวก็ได้นะคะ เพราะการป่วยภายนอกกับภายในอาจต้องใช้ยาคนละตัวกัน และยารักษาโรคสัตว์น้ำมีในตลาดค่อนข้างเยอะ จะเป็นยาเหลืองหรือยาอื่น ๆ ที่ใช้รักษาได้เหมือนกันก็ได้ หากปลาป่วยหนักและอาการดูแย่จริง ๆ ควรปรึกษาสัตวแพทย์ให้แพทย์แนะนำจะดีกว่าค่ะ
- ในกรณีที่ปลากัดป่วยหนักจนถึงขั้นวิกฤต ทรมาน และเป็นโรคที่รักษาไม่ได้ แพทย์จะแนะนำให้ทำการการุณยฆาต (Euthanasia) ในขั้นตอนนี้ ควรจะให้แพทย์เป็นผู้วินิจฉัย ไม่ควรทึกทักเอาเองนะคะ
- ในวิธีของบางบ้านก็ใช้วิธีการเอาปลากัดหมักใบหูกวางเข้มข้น เรียกว่าการหมักปลากัด บ้างก็ใส่ใบตองแห้ง บ้างก็ใส่เกลือทะเล
- ในบางบ้านอาจใช้วิธีการช็อคเกลือ (นำไปใส่ในน้ำเกลือแกงละลายน้ำเข้มข้นแล้วรีบนำออกอย่างไวที่สุด) บ้างก็บอกว่าวิธีนี้ใช้ได้ผล ทำแล้วปลากัดหายป่วยในทันที บ้างก็บอกว่าวิธีนี้ไม่แนะนำ เนื่องจากมีผลข้างเคียงต่อปลากัด ไม่ว่าจะด้วยวิธีการใดผู้เลี้ยงควรพิจารณาให้รอบคอบและถี่ถ้วน เพราะหากมีความผิดพลาดเกิดขึ้น อาจส่งผลเสียโดยตรงต่อปลากัดได้
- เนื่องจากเป็นปลาติดเชื้อ ของตกแต่งในตู้ควรจะล้างทำความสะอาดแบบ 100% มิเช่นนั้นอาจหลงเหลือเชื้อโรคให้เป็นพาหะต่อไปได้ โดยพืชน้ำควรเปลี่ยนต้นใหม่ทั้งหมด หรือหากใครไม่สะดวกเปลี่ยนใหม่ทั้งหมดควรนำไปล้างทำความสะอาดและขัดถูให้คราบเมือกลื่น ๆ ออกไปให้มากที่สุด หลังจากนั้นจึงทำการแช่พืชน้ำไว้ด้วยน้ำประปาสะอาดผสม Cotrixide หรือ เกลือทะเล ทิ้งไว้สักพักหนึ่ง, หินและทรายควรนำไปใส่ไมโครเวฟความร้อนสูงราว 1-2 นาที หรือถ้าใครสะดวกต้มน้ำเดือดราดก็สามารถทำได้อีกเช่นกัน หากะละมังที่แข็งแรงและทนความร้อนสูงได้มารองด้วยนะคะ, เหลี่ยมปลากัดควรล้างและขัดให้สะอาดด้วยน้ำประปาสะอาดผสม Cotrixide หรือ เกลือทะเล ย้ำว่าต้องมั่นใจว่าขัดและล้างสะอาดทุกซอกทุกมุมจริง ๆ นะคะ เพราะหากทำความสะอาดไม่หมด อาจมีเชื้อเป็นพาหะต่อไปอีกก็ได้ค่ะ
- ไม่ควรต้มน้ำร้อนราดเหลี่ยมปลากัด เนื่องจากอาจทำให้กาวละลายและเหลี่ยมรั่วซึม หรือความร้อนจัดจนเกินไปอาจทำกระจกร้าวแตกได้
- ในกรณีที่ใช้ Cotrixide ในการรักษาโรคภายนอก ให้ผสมน้ำในอัตราส่วนเพื่อการรักษา ควรใส่ปริมาณตาที่ฉลากกำหนดไว้อย่างเคร่งครัด เนื่องจากปริมาตรน้ำกับยามีความสัมพันธ์กัน หลังจากนั้นใส่ Tannic Goldenbetta เพื่อสลายคลอรีนในทันทีและใส่ปลากัดตาม
อย่างไรก็ตาม ลักษณะทางกายภาพของปลากัดแต่ละตัวนั้นไม่เหมือนกัน ปลากัดป่วยแต่ละข้อก็จะมีวิธีการรักษาที่แตกต่างกันออกไปค่ะ ดังนั้นเจ้าของควรสังเกตและพิจารณาอาการปลากัดของตัวเองให้ถี่ถ้วน และค้นคว้าหาหาข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อทำการรักษาอย่างเหมาะสมกับโรคของปลากัดแต่ละตัวด้วยนะคะ