รีวิว AirPods Max หูฟังครอบหูรุ่นแรกจาก Apple เสียงแจ่มจรรโลงจิต ราคาแรงกระชากใจ ราคาไทย 19,900 บาท

สินค้าตระกูล AirPods ถูกเปิดตัวครั้งแรกในช่วงปลายปี 2016 เป็นครั้งแรกที่ Apple นำเสนอหูฟังไร้สายและเป็นรูปแบบ True Wireless (TWS) ภายใต้แบรนด์ Apple เอง ซึ่งปฏิวัติวงการหูฟังทำให้หูฟัง True Wireless ได้รับความนิยมจนถึงปัจจุบัน

จนเวลาผ่านไปจนถึงเดือนมีนาคม 2019 Apple ก็ได้เปิดตัว AirPods รุ่นที่ 2 โดยปรับปรุงสเปคในส่วนต่าง ๆ และนำเสนอรุ่นชาร์จไร้สายเป็นอีกหนึ่งตัวเลือก

ในช่วงปลายเดือนตุลาคม 2019 Apple ก็ได้ขยายไลน์สินค้าของ AirPods เพิ่ม โดยได้เพิ่มรุ่น Pro ที่มาในรูปแบบหูฟัง In-ear เข้ามาเป็นรุ่นสูงสุด นำเสนอฟีเจอร์เด่นที่เป็นจุดขายอย่าง Active Noise Cancellation และ Adaptive EQ ทำให้ AirPods ในเวลานั้นมีตัวเลือกให้เลือกถึง 3 รุ่น

หลังจากนั้นก็มีข่าวลือหนาหูออกมาว่า Apple กำลังซุ่มพัฒนา AirPods ในรูปแบบครอบหู (Over-ear) ซึ่งลือกันว่าจะใช้ชื่อ AirPods Studio แต่วันเวลาผ่านไปก็ยังไม่เปิดตัวมาให้เห็นกันสักที (ช่วงหลังมานี้ Apple มักจะเปิดตัวสินค้าแบบไม่บอกกล่าวกันล่วงหน้า ชนิดว่าอยู่ดี ๆ ก็มีข้อมูลโผล่มาในเว็บเลย) จนกระทั่งวันที่ 8 ธันวาคม 2020 ที่ผ่านมา Apple ก็ได้เปิดตัว AirPods Max หูฟังไร้สายรุ่นใหม่ที่มาในรูปแบบครอบหู พร้อมกับราคาที่แพงฉีกจากรุ่น Earbud และ In-ear ไปไกล โดยราคาที่วางจำหน่ายแบบเป็นทางการในไทยนั้นอยู่ที่ 19,900 บาท ทำให้ตอนนี้ Apple มี AirPods ทั้งในรูปแบบ Earbud, In-ear และ Over-ear

และตอนนี้ AirPods Max ก็ได้อยู่ในมือของทีมงาน Review.co.th แล้ว เดี๋ยวมาดูกันดีกว่าว่าเจ้าหูฟังราคาแสนโหดตัวนี้จะเด็ดดวงขนาดไหน

Disclaimer: ผู้เขียนเองไม่ใช่มนุษย์เผ่าพันธุ์ Audiophile เคยใช้พวกหูฟัง In-ear กับ On-ear ของ Sony มาบ้าง และช่วงหลังมานี้ได้เข้ามาอยู่ในลัทธิ Apple ทำให้เคยมีโอกาสใช้ AirPods รุ่นที่ 2 อยู่ระยะหนึ่งและปัจจุบันนี้ใช้ AirPods Pro เป็นหูฟังประจำตัว เพราะฉะนั้นรีวิวนี้จะเป็นมุมมองของคนธรรมดาที่มีต่อ AirPods Max นะครับ
Marmeloz
Unbox
กล่องของ AirPods Max มาในรูปทรงสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ ด้านในประกอบไปด้วย AirPods Max, Smart Case, สาย Lightning – USB-C และคู่มือการใช้งาน แน่นอนว่า Apple ยุคหลังมานี้จะไม่แถมอแดปเตอร์ชาร์จมาให้ด้วย
Design
AirPods Max เป็นหูฟังทรงครอบหู ส่วนโค้งเหนือศีรษะเป็นตาข่ายถัก เมื่อสวมใส่จะรู้สึกสบายเพราะตาข่ายทำให้ระบายอากาศเหนือศีรษะได้ดี และยังช่วยลดแรงกดบนศีรษะอีกด้วย

สำหรับโครงหูฟังที่ซ่อนอยู่ในวัสดุบุนุ่มจะใช้วัสดุเป็นสแตนเลสสตีล ทำให้แข็งแรงทนทานแต่ก็มีความยืดหยุ่นสูงมาก ในแง่แรงบีบถือว่าสวมใส่สบาย ไม่รู้สึกถึงแรงบีบ แต่ถ้าพูดถึงในแง่น้ำหนักถือว่าเป็นหูฟังที่มีน้ำหนักมาก ๆ ตัวนึง แต่ใส่ไปสักพักก็จะรู้สึกชิน

ก้านหูฟังเวลายืดเข้ายืดออกแอบรู้สึกว่าฝืดไปนิด แต่แลกมากับการล็อคตำแหน่งได้ตามที่ต้องการได้ดีมาก อันที่จริงถ้าใช้งานคนเดียวล็อคตำแหน่งค้างเอาไว้เลยก็ได้ เพราะเป็นส่วนที่ยื่นออกมาจากตัวเคส

วัสดุภายนอกตรงส่วนที่ครอบหูเป็นอะลูมิเนียมที่ผ่านการชุบผิว ที่ครอบหูสามารถหมุนด้านที่มีฟองน้ำออกได้อย่างอิสระ ทำให้เข้ากับรูปหน้าได้เป็นอย่างดี (บ่นนิดนึง ใครที่ชอบเอาหูฟังมาคล้องคออาจไม่ค่อยถูกใจ เพราะรู้สึกอึดอัดพอสมควร นอกจากจะแบะออกให้เป็นแนวนอน)
วัสดุด้านในทำมาจากผ้าตาข่ายที่หุ้มรอบโฟมรองหู ใส่แล้วรู้สึกนุ่มสบายหู แต่ใส่ไปสักพักแอบรู้สึกได้ว่าหูมีความชื้นทั้ง ๆ ที่ไม่ได้ทำกิจกรรมที่แอ็คทีฟอะไรมาก ด้านในมีการถักเป็นตัวอักษร L กับ R เพื่อบอกด้านซ้ายขวา ส่วนตัวโฟมรองหูทำมาจากเมโมรี่โฟมทำให้ใส่แล้วแนบสนิทกับหูแต่พอถอดออกก็คืนกลับรูปเดิมได้แบบไม่เสียทรง

จุดที่แก้ Pain point ของหูฟังประเภทนี้ได้อย่างดีคือตัว Earcup ที่สามารถถอดเปลี่ยนได้ง่าย ถ้าเกิดใช้ไปนาน ๆ แล้วเปื่อยยุ่ยก็ถอดเปลี่ยนได้เอง แค่ออกแรงดึงเบา ๆ ก็หลุดออกมาแล้ว ตอนใส่กลับก็ใส่ง่าย แค่แปะเข้าไปมันก็จะล็อคให้เองอัตโนมัติ แต่ไม่ต้องกลัวว่ามันจะหลุดหายเพราะถ้าหากเราไม่ได้ไปออกแรงดึงมันก็จะติดอยู่แน่นสนิทดี
ตัว Earcup มีขายแยกในราคา 2,290 บาท อนาคตต้องมีคนซื้อสีที่แตกต่างจากตัวหูฟังมาแมตช์กันแน่นอน

AirPods Max มีให้เลือกทั้งหมด 5 สี ได้แก่ สีเงิน สีเทาสเปซเกรย์ สีสกายบลู สีชมพู และสีเขียว อันที่จริงก็แทบจะล้อกับสีของ iPad Air รุ่นที่ 4 เลย (ตัวเคสแต่ละสีจะแตกต่างกันออกไปตามสีของหูฟัง)
Connectivity
สำหรับการเชื่อมต่อก็ถือว่าเป็นจุดเด่นสำหรับ AirPods อยู่แล้ว การเชื่อมต่อทำได้ง่ายมาก สำหรับการเชื่อมต่อครั้งแรกแค่ถอดจากเคสแล้วหยิบขึ้นมาใกล้ ๆ กับอุปกรณ์ Apple ของเราก็จะมี Pop-up เด้งขึ้นมาให้เชื่อมต่อทันที

พอเรากด Connect ปุ๊บก็ให้กดปุ่ม Noise Control ค้างเอาไว้

แค่นี้ก็เป็นอันเรียบร้อย กด Done แล้วใช้งานได้เลย

ถ้าหากคุณใช้อุปกรณ์ Apple หลาย ๆ ชิ้นก็สามารถสลับการทำงานระหว่างอุปกรณ์ได้อย่างรวดเร็วด้วยการกดไอคอน AirPlay ในอุปกรณ์ที่ต้องการย้ายไปใช้แล้วเลือก AirPods Max ได้เลย (AirPods รุ่นอื่น ๆ ก็รองรับคุณสมบัตินี้นะ)

ยกตัวอย่างเช่น ถ้ากำลังฟังเพลงบน iPhone แล้วอยากย้ายไปฟังบน iPad แทน ก็กดไอคอน AirPlay บน iPad และเลือก AirPods Max ได้เลย

พอกดก็จะสลับไปเชื่อมต่ออีกเครื่องทันทีอย่างรวดเร็ว เพราะตัว Bluetooth ของ AirPods จะเชื่อมต่อกับ iPhone และ iPad ของเราพร้อมกันอยู่แล้วถ้าหากอยู่ใกล้กัน

สำหรับอุปกรณ์ที่เป็นระบบปฏิบัติการณ์ Android เองก็สามารถเชื่อมต่อกับ AirPods Max ได้เช่นกัน แต่ความสามารถบางอย่างจะใช้ได้ไม่เต็มที่เหมือนใช้งานร่วมกับอุปกรณ์ของ Apple
Control
มาดูในส่วนของการควบคุมกันบ้าง ที่ครอบหูฝั่งขวาจะมีปุ่มสำหรับควบคุมหูฟัง 2 ปุ่มด้วยกัน

ปุ่มแรกจะเป็นปุ่ม Digital Crown ที่คนใช้ Apple Watch จะคุ้นเคยกันดี Apple ก็ได้ยกปุ่มนี้มาใส่ใน AirPods Max ด้วย สำหรับปุ่มนี้จะใช้ปรับเพิ่มลดเสียงได้ด้วยการหมุน ซึ่งสามารถตั้งได้ว่าจะให้เพิ่มเสียงด้วยการหมุนไปด้านหน้าหรือว่าหมุนไปด้านหลัง


นอกจากหมุนเพื่อควบคุมระดับเสียง ปุ่ม Digital Crown ยังมีฟังก์ชันอื่น ๆ ได้แก่
- กดหนึ่งครั้งเพื่อเล่น หยุดพัก หรือรับสายโทรศัพท์
- กดสองครั้งเพื่อข้ามไปเพลงหรือคลิปต่อไป (แต่ถ้าดูหนังในแอป TV จะเป็นการกรอไปข้างหน้า)
- กดสามครั้งเพื่อย้อนไปเพลงหรือคลิปก่อนหน้า (แต่ถ้าดูหนังในแอป TV จะเป็นการกรอไปข้างหลัง)
- กดค้างไว้เพื่อเรียกใช้งาน Siri
ตอนเห็นครั้งแรกคิดว่าน่าจะปรับยากเพราะตำแหน่งไปอยู่หลังก้านหูฟัง แต่เอาเข้าจริงปรับสะดวกมาก

ถ้าใครใช้ Apple Watch จะรู้ดีว่าการควบคุมแบบนี้มันยกมาจากการควบคุมเพลงด้วย Apple Watch ชัด ๆ ยกเว้นการกดสองครั้งกับสามครั้งเพื่อเปลี่ยนเพลง ?

ส่วนปุ่มอีกปุ่มที่รูปทรงรีคล้ายเม็ดยาหรือปุ่ม Noise Control จะเอาไว้ควบคุมโหมดตัดเสียงรบกวนกับโหมดฟังเสียงภายนอก ซึ่งจะกดแล้วปล่อยเลยหรือกดค้างก็ให้ผลเหมือนกัน

Smart Case
AirPods Max นั้นจะต่างกับหูฟังตัวอื่นตรงที่ตัวอื่นจะมีปุ่ม Power เพื่อปิดเครื่องเมื่อไม่ใช้งานหรือมีฟังก์ชันปิดการทำงานเมื่อพับหูฟัง แต่ AirPods Max นั้นไม่มีปุ่ม Power สำหรับเปิดปิดมาให้ สำหรับการเก็บเมื่อไม่ใช้งานจะมี Smart Case ที่มากับหูฟัง ถ้าเราเก็บไว้ใน Smart Case ก็จะเข้าสู่โหมดใช้พลังงานต่ำเป็นพิเศษ

ตัวเคสนุ่มนิ่มดี ตรงส่วนที่ยื่นมาปิดเคสมีแม่เหล็กล็อคกับตัวเคส

ผิวด้านในจะเป็นหนังกลับ มีพื้นผิวที่เหมือนกับ Leather Case ของ iPhone กับ Magic Keyboard ของ iPad Pro/Air

เทียบกันให้เห็นชัด ๆ เวลาสัมผัสรู้สึกนุ่มกว่า Magic Keyboard สำหรับ iPad ชัดเจน และนุ่มใกล้เคียงกับ Leather Case ของ iPhone แต่พอลูบจะลื่นกว่า Leather Case นิด ๆ (อาจเป็นเพราะใช้เคส iPhone อันนี้มาระยะนึงก็เป็นได้)

สำหรับการชาร์จแบตช่องชาร์จก็จะอยู่ใต้ที่ครอบหูด้านขวา สามารถชาร์จตอนใส่เคสได้เลยเพราะเว้นช่องเอาไว้ให้แล้วเรียบร้อย แต่ก่อนชาร์จควรเก็บก้านหูฟังให้หดเข้าไปสั้นที่สุด เพราะไม่อย่างนั้นช่องชาร์จจะไม่ตรงกับส่วนเว้าของเคสที่เว้นเอาไว้ให้ช่องชาร์จโผล่ออกมา

จะว่าไปแล้วมันก็ดูเหมือนกระเป๋าสตางค์สำหรับผู้หญิงเหมือนกันนะ ถ้าไม่เว้าข้างล่างคือใช่เลย

ถ้าคุณไม่ใช่คนที่พกกระเป๋าสะพายไปไหนมาไหนก็ต้องถือมันแบบนี้แหละ ถ้าคล้องคอเหมือนหูฟังตัวอื่น ๆ ไม่สะดวกแน่นอน

Sound & Experience
ออกตัวก่อนว่าผมเองไม่ใช่พวกหูเทพ หูทิพย์ หูทอง เพราะฉะนั้นความเห็นที่ออกมาจะเป็นความเห็นตามความรู้สึกที่ได้ฟังตามประสบการณ์ส่วนตัวเลยนะครับ

สิ่งที่ AirPods Max ทำได้ดีเลยคือเรื่องการเก็บรายละเอียดของเสียง เพลงไหนที่มีเสียงคอรัสร้องคลอเบา ๆ จะรู้ได้เลยว่ามีเสียงนี้อยู่ การแยกเสียงร้องกับเสียงเครื่องดนตรีต่าง ๆ ทำได้ชัดเจน เสียงนักร้องเด่นชัดแยกกับเสียงดนตรี เล่นเพลงที่เครื่องดนตรีเยอะ ๆ เสียงไม่ปนกันมั่ว จัดการเสียงแต่ละย่านความถี่ได้ดี เสียงจะเป็นแนวบาลานซ์ เน้นฟังง่ายตามสไตล์ Apple มีความใกล้เคียงกับหูฟังแบบมอนิเตอร์ เบสมาค่อนข้างน้อย ซึ่งถ้าใครชอบฟังเพลงแนว Rock หรือชอบหูฟังแนวเสียงคัลเลอร์ที่ปรับแต่งเสียงให้ฟังสนุกก็อาจไม่ถูกใจนัก
ลองฟังเพลงเดียวกันบนแอป Apple Music กับ Spotify และไปฟังบนแอป Tidal จะรู้สึกได้ชัดเลยว่าเสียงแตกต่างกับสองแอปก่อนหน้าชัดเจน AirPods Max ดึงศักยภาพของเสียงเพลงออกมาได้มากขึ้นจริง ๆ ปลายเสียงคือสุดมาก
Marmeloz
Spatial Audio
แต่สิ่งที่รู้สึกว่ามันตอบโจทย์ผู้ใช้งานกลุ่มนึงแน่นอนเลยก็คือฟีเจอร์ Spatial Audio ที่คนใช้ AirPods Pro น่าจะคุ้นเคยเป็นอย่างดี ถ้าใครที่ชอบดูภาพยนตร์ผ่านแอปพลิเคชัน TV ของ Apple จะต้องรักฟีเจอร์นี้ เพราะ Spatial Audio จะเป็นการจำลองเสียงรอบทิศทางในขณะที่เรากำลังใส่หูฟัง และสามารถจับตำแหน่งศีรษะของเราว่าหมุนไปในทิศทางไหนด้วยการใช้ Gyroscope กับ Accelerometer ตรวจจับ อธิบายให้ฟังง่าย ๆ คือปกติแล้วถ้าเราดูหนังจากจอทีวีทิศทางของเสียงจะพุ่งมาจากทีวี หากเราหันหน้าไปทางซ้าย เสียงก็จะดังที่ด้านขวาของศีรษะ แต่ถ้าเราใส่หูฟังดูหนังโดยปกติแล้วไม่ว่าจะหันหน้าไปทางไหนเสียงก็จะเหมือนเราหันเข้าหาหน้าจอตลอดเพราะแหล่งกำเนิดเสียงหันตามเราด้วย ซึ่ง Spatial Audio จะจำลองให้เหมือนว่าเสียงพุ่งออกมาจากทิศทางเดิมเวลาที่เราเปลี่ยนตำแหน่งของศีรษะ หรือเหมือนเวลาเราฟังเสียงจากลำโพงที่ฟิกตำแหน่งเอาไว้แล้วหันหน้าไปมานั่นเอง แต่ในส่วนนี้ผมมองว่ามันเป็นกิมมิคเล็ก ๆ น้อย ๆ มากกว่า เพราะคนปกติเขาคงไม่หันหน้าไปมาเวลาที่กำลังดูหนังอยู่ หรือถึงหันก็คงไม่ได้ใส่ใจเรื่องทิศทางของเสียงเท่าไหร่นัก

Tip: หากเราเปิดใช้งาน Spatial Audio ปุ๊บ เซ็นเซอร์จะล็อคตำแหน่งในขณะที่เราเปิดใช้งานว่าเป็นตำแหน่งของศีรษะเรา ถ้าต้องการเปลี่ยนตำแหน่งให้ปิดและเปิดใหม่
แต่สิ่งที่เด็ดคือ Spatial Audio จะทำให้การรับชมคอนเทนต์ในแอปที่รองรับมีอรรถรสมากขึ้น เพราะจะทำให้เสียงมีมิติมากขึ้น มีความรู้สึกว่าขอบเขตของเสียงกว้างขึ้นจากเดิมเหมือนว่ากำลังฟังเสียงจากลำโพงอยู่ ซึ่งเหมาะกับการรับชมคอนเทนต์ในแอป TV ที่เป็นระบบเสียง Dolby Atmos

น่าเสียดายที่ตอนนี้แอปที่รองรับมีแค่ TV, iTunes, HBO Max และ Disney+ (ซึ่งก็ไม่เปิดบริการในไทยกัน -_-) ส่วนแอปอื่น ๆ นอกเหนือจากนี้ยังไม่รองรับระบบ Spatial Audio แต่ตอนนี้เป็นที่แน่นอนแล้วว่า Disney+ กำลังจะเข้ามาทำตลาดในประเทศไทย ซึ่งก็ต้องรอดูอีกทีว่าตัวแอปจะรองรับระบบนี้หรือไม่ เพราะ Disney+ ที่เปิดให้บริการในแต่ละภูมิภาคจะมีรายละเอียดบางอย่างที่แตกต่างกันออกไป
Tip: สังเกตง่าย ๆ ว่าคอนเทนต์ที่เรากำลังเล่นรองรับ Spatial Audio หรือไม่ด้วยการสังเกตที่ไอคอนการเปิดปิดโหมดนี้ได้เลย (เข้าไปเปิดปิดโหมดนี้ได้จากการกดค้างแถบเพิ่มลดเสียงใน Control Center) ถ้าหากสัญลักษณ์คลื่นเสียงรอบ ๆ หัวคนขยับแปลว่าระบบนี้กำลังทำงาน

ถ้าคอนเทนต์ไหนไม่รองรับ Spatial Audio แล้วเรากดเปิดโหมดนี้ตอนเล่นก็จะขึ้นข้อความเหมือนกับรูปด้านล่างนี้ (แต่ถ้าไปกดเปิดตอนที่เราไม่ได้เล่นอะไรอยู่มันก็จะขึ้นเหมือนกับรูปข้างบน)

Microphone
ต้องบอกว่าไมโครโฟนเป็นจุดที่แย่ที่สุดเลยก็ว่าได้ ผมได้ลองใช้บันทึกเสียงในแอป Voice Memos พบว่าเสียงแตก กระตุก และขาดหายเป็นช่วง ๆ ตลอดการอัดเสียง ก็เลยลองใช้ AirPods Pro อัดเสียงดูบ้าง พบว่าคุณภาพเสียงดีกว่าและไม่ได้กระตุกขาดหายแบบ AirPods Max

เพื่อเช็กให้แน่ใจก็เลยลองโทรศัพท์ดูบ้างและให้ปลายสายบันทึกเสียงส่งกลับมาให้ฟัง พบว่าอาการเหมือนลองอัดเสียงด้วย Voice Memos ก็คือเสียงแตก กระตุก ขาดหาย จากนั้นทดลองเดินออกไปคุยข้างนอกห้องที่มีเสียงรถยนต์กับเสียงคอมแอร์ พบว่าระบบตัดเสียงรบกวนของไมโครโฟนทำงานได้ช้ามากจนปลายสายแทบฟังไม่รู้เรื่องว่าเรากำลังจะพูดอะไร และใช้เวลาสักระยะหนึ่งประมาณ 5-10 วินาทีในการปรับไมโครโฟนให้เหมาะกับเสียงในสภาพแวดล้อม ในขณะที่ AirPods Pro ใช้คุยโทรศัพท์แล้วปลายสายได้ยินแบบชัดเจนและตอนที่เดินออกจากห้องไปข้างนอกตัวไมโครโฟนปรับให้เข้ากับเสียงในสภาพแวดล้อมได้ไวกว่ามาก
ซึ่งดูทรงแล้ว AirPods Max น่าจะเน้นไมโครโฟนสำหรับโหมด Active Noise Cancelling เพื่อตัดเสียงรบกวนเวลาฟังมากกว่า เพราะไมโครโฟนทั้งหมด 9 ตัวเป็นไมโครโฟนสำหรับตัดเสียงรบกวนไปแล้วถึง 8 ตัว ซึ่งจะมีเพียง 2 จาก 8 ตัวที่ทำหน้าที่รับเสียงพูดร่วมกับไมโครโฟนที่เหลืออีก 1 ตัว

โหมด Active Noise Cancelling กับ Transparency
สำหรับโหมด Active Noise Cancelling ถือว่าทำออกมาได้ดีเลยทีเดียว ตัดเสียงรบกวนย่านเสียงต่ำรอบข้างได้เกือบหมดและไม่รู้สึกอึดอัดเวลาเปิดใช้งาน ทดลองฟังเพลงในห้องที่มีคน 3 คนกำลังพูดคุยกันก็ไม่ได้ยินอะไรแล้ว แม้ว่าจะไม่ได้เปิดเพลงอยู่ก็ตาม อันที่จริงถ้าเสียงภายนอกไม่ได้ดังมากก็ไม่จำเป็นต้องเปิดโหมดนี้ก็ได้ เพราะด้วยรูปทรงของหูฟังเอาแค่ลำพังโหมด Off ก็ไม่ค่อยได้ยินเสียงรบกวนแล้ว
แต่โหมด Transparency ที่ช่วยทำให้ได้ยินเสียงรอบตัวชัดเจนขึ้นขณะที่กำลังสวมใส่หูฟังไม่ได้ทำให้เราได้ยินเสียงภายนอกชัดเท่าไหร่นัก ถ้าหากใครเคยลองใช้บน AirPods Pro จะรู้ว่าโหมดนี้ทำให้ได้ยินเสียงภายนอกขณะที่กำลังฟังเพลงได้ดีมาก แต่สำหรับบน AirPods Max ถ้าเราใส่หูฟังไว้เฉย ๆ แล้วเปิดโหมดนี้ก็ยังพอคุยกับคนอื่นรู้เรื่องอยู่บ้าง แต่ถ้าเปิดเพลงเมื่อไหร่ก็จะได้ยินว่ามีคนกำลังคุยกันอยู่ แต่จะจับใจความจากการพูดคุยไม่ค่อยได้แล้ว (จากการลองเปิดระดับเสียงอยู่ที่ประมาณ 40-50%) อย่างไรก็ตามผมเองไม่ได้ต้องการเทียบว่า AirPods Pro ใช้งานโหมดนี้ได้ดีกว่า เพราะแค่ประเภทของหูฟังก็เป็นคนละประเภทกันแล้วและไม่แปลกถ้าหูฟัง In-ear จะทำตรงนี้ได้ดีกว่าหูฟัง Over-ear แต่ต้องการเปรียบเทียบเพื่อให้ผู้อ่านที่เคยใช้ AirPods Pro นึกออกว่าโหมดนี้บน AirPods Max มันเป็นแบบไหน
Battery
สำหรับเรื่องแบตเตอรี่ผมเองไม่ได้ทดสอบอะไรมากนัก ลองใช้ไปราว ๆ 2 ชั่วโมงครึ่งแบบติดต่อกันแบตลดไป 12% ซึ่งถ้าเทียบบัญญัติไตรยางค์แบบหยาบ ๆ จะพบว่าใช้ได้ราว ๆ 20 ชั่วโมงตามที่ Apple ได้เคลมเอาไว้
สรุป
ตอนได้จับครั้งแรกรู้สึกได้ว่า AirPods Max เป็นหูฟังที่มีน้ำหนักพอสมควรเมื่อเทียบกับหูฟังรูปแบบเดียวกัน แต่พอได้ใส่แล้วรู้สึกว่าเป็นหูฟังที่ใส่สบายดี ฟองน้ำบุหูนุ่มกำลังดี กระชับหู ถ้าให้พูดแบบสั้น ๆ ง่าย ๆ คือใส่แล้วสบายหู แต่ถ้าใส่ไปนาน ๆ แล้วก็อาจเมื่อยคอได้สำหรับบางคนเพราะน้ำหนักที่มาก (แต่ส่วนตัวลองใส่ติดต่อกันนาน ๆ ก็ไม่เมื่อยอะไรมากมาย)
สำหรับด้านเสียงเหมาะกับคนชอบฟังเพลงที่ให้รายละเอียดดี เสียงดี และฟังนาน ๆ ไม่ล้าหู หรือถ้าจะใช้งานด้านตัดต่อวิดีโอก็เหมาะสมดี (ซึ่งก็ตอบโจทย์กับการใช้งานคู่กับ Mac อยู่แล้ว) แต่ใครที่ชอบหูฟังแนวเสียงคัลเลอร์ที่ปรับแต่งเสียงให้ฟังสนุกก็อาจไม่ชอบแนวเสียงของหูฟังรุ่นนี้ แน่นอนว่าเสียงสไตล์แบบนี้มียี่ห้ออื่นที่ทำได้ดีกว่าและขายในราคาที่ถูกกว่า
แต่สิ่งที่คุณจะได้จาก AirPods Max แบบที่ยี่ห้ออื่นให้ไม่ได้ก็คือฟีเจอร์ Spatial Audio กับการเชื่อมต่อระหว่างอุปกรณ์แบบไร้รอยต่อ แต่ว่าฟีเจอร์เหล่านี้ใช้งานได้เฉพาะบนอุปกรณ์ของ Apple เท่านั้น ทำให้ชัดเจนมากกว่ากลุ่มเป้าหมายของหูฟังรุ่นนี้คงไม่ใช่ใครที่ไหนนอกจากกลุ่มผู้ใช้งาน Apple ถ้าหากคุณไม่ได้ใช้ Apple ก็ควรมองข้ามหูฟังรุ่นนี้ไปเลย
