สมาร์ทโฟนในปัจจุบันมีหน้าจอหลากหลายชนิด ทั้ง LCD, OLED, AMOLED เป็นต้น ซึ่งหลายคนก็อาจจะสงสัยว่าแต่ะชนิดแตกต่างกันอย่างไร มีข้อดีข้อเสียอย่างไร มาดูกันครับ

LCD ( Liquid-crystal display )
เป็นชนิดของหน้าจอที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในมือถือ หลักการทำงานแบบเข้าใจง่ายคือหน้าจอชนิดนี้จะต้องมีไฟ Backlit ส่องแสงผ่านแผ่นโพลาไรซ์ (Polarize) 2 แผ่นที่วางทำมุมกัน 90 องศา ซึ่งตาปกติแผ่นโพลาไรซ์จะมีความสามารถทำให้แสงผ่านได้เพียงมุมเดียว เมื่อวางตั้งฉากกันจะทำให้แสงไม่สามารถส่องผ่านได้ ตรงกลางจึงมีผลึก Liquid-crystal ที่สามารถเปลี่ยนมุมของแสงได้คั่นอยู่คอยหักเหแสงให้สามารถส่องผ่านแผ่นโพลาไรซ์ทั้งสองได้ โดยผลึกนี้สามารถปรับเปลี่ยนปริมาณแสงที่หักเหได้โดยใช้ไฟฟ้า ในการใช้งาน หากเราต้องการแสดงผลสีดำ ตัว Liquid-crystal ก็จะไม่หักเหแสงเลย แต่ถ้าต้องการสีขาวก็จะหักเหแสงสุด ถ้าต้องการโทนสีระหว่างนั้นก็จะปรับปริมาณการหักเหแสงตามความเหมาะสม

ในหนึ่งพิกเซลของหน้าจอจะประกอบด้วยผลึก Liquid-crystal 3 ผลึก ผลึกละสี ประกอบด้วยสีแดง, เขียว และ น้ำเงิน ผสมรวมกันทั้งสามสีเพื่อแสดงผลสีต่างๆ บนหน้าจอได้ครับ
TFT LCD ( Thin-film-transistor liquid-crystal display )
หน้าจอ LCD ที่เรานิยมใช้กันนปัจจุบันจะเป็นชนิด TFT LCD ได้ชื่อมาจากแผ่น Thin-film-transistor ที่เชื่อมเข้ากับพิกเซลแต่ละพิกเซลบนหน้าจอสำหรับควบคุมการเปิดปิดพิกเซล ข้อดีของหน้าจอชนิดนี้คือมีความคมชัดและรีเฟรชเรทที่สูง ซึ่ง TFT LCD เองก็ยังแบ่งแยกย่อยได้อีก โดยหลักๆ ที่ใช้กันจะมี 3 ชนิด
- TN (Twisted nematic) เป็นชนิดหน้าจอที่ค่อนข้างโบราณและมีราคาถูก ข้อดีของมันคือความเร็วในการตอบสนองสูง แต่แลกมากับมุมมองหน้าจอที่แคบ และแสดงผลสีสันได้แย่
- VA (vertical alignment) ชนิดหน้าจอที่ได้รับการพัฒนาขึ้นมาให้มีการตอบสนองที่รวดเร็ว และมุมมองภาพที่กว้างขึ้น แลกมากับความสว่างที่น้อยและการแสดงผลสีที่แย่
- IPS (In-plane switching) ชนิดหน้าจอที่ได้รับความนิยมสูงที่สุดในสมาร์ทโฟน ได้รับการรับปรุงให้สามารถแสดงสีสันได้สวยงามและมีมุมมองภาพที่กว้าง ในยุคแรกหน้าจอชนิดนี้มีข้อเสียคือมีความเร็วในการตอบสนองที่ช้า และมี Contrast ต่ำ แต่ก็ได้รับการปรับปรุงจนกลายเป็นชนิดหน้าจอ LCD ที่ใช้มากที่สุด
รวมสิ่งที่คนมักเข้าใจผิดเกี่ยวกับจอ LCD
- หลายคนเข้าใจผิดว่าหน้าจอ TFT และ IPS เป็นคนละชนิดกัน แท้จริงแล้ว หน้าจอ IPS เป็นประเภทย่อยของหน้าจอ TFT แต่สมัยที่หน้าจอชนิด IPS ได้รับความนิยมใหม่ๆ มักจะโฆษณาว่าเป็นหน้าจอ IPS ส่วนรุ่นเก่าๆ ที่อาจจะใช้ TN หรือ VA จะใช้คำว่า TFT เฉยๆ ทำให้เกิดการเข้าใจผิดกัน
OLED (Organic light-emitting diode)
เป็นหน้าจอชนิดใหม่ที่กำลังเริ่มได้รับความนิยมสูงขึ้นในปัจจุบัน เรียกว่าสมาร์ทโฟนระดับกลางจนถึงระดับเรือธงแทบจะเลือกใช้หน้าจอชนิดนี้กันทุกรุ่น และยังถูกใช้เป็นหน้าจอของอุปกรณ์ประเภทสมาร์ทวอทช์ด้วย การทำงานของหน้าจอชนิดนี้จะมีอินทรีย์สารที่สามารถส่องแสงได้ด้วยตัวเองเมื่อถูกกระตุ้นด้วยไฟฟ้า โดยแต่ละอินทรีย์สารก็คือหนึ่งพิกเซลในหน้าจอนั่นเอง โดยหน้าจอแบบ OLED มีจุดเด่นตรงที่แต่ละพิกเซลสามารถควบคุมการปิดเปิดได้อย่างอิสระ ไม่มีไฟ Backlit ทำให้สามารถแสดงผลสีดำได้ดำสนิท และด้วยความบางของหน้าจอทำให้สามารถออกแบบหน้าจอที่บิดงอได้ พับได้ นำไปใส่ในอุปกรณ์เล็กๆ ได้
AMOLED (Active-matrix organic light-emitting diode)
เป็นชนิดของหน้าจอ OLED ได้ชื่อมาจากวิธีควบคุมหน้าจอ ซึ่งจะมี 2 วิธีด้วยกัน วิธีแรกคือ Passive Matrix (PMOLED) วิธีนี้จะใช้การจ่ายกระแสไฟไปยังแถวของ OLED ทีละแถว ซึ่งทำให้มีรีเฟรชเรทน้อย แต่ราคาถูก และอีกวิธีคือ Active Matrix (AMOLED) ที่ควบคุมผ่านแผ่น TFT ที่วางอยู่บน Substrate ซึ่งปกติจะใช้กระจก ทำให้สามารถออกแบบหน้าจอที่มีขนาดใหญ่ขึ้น ความละเอียดสูงขึ้น และมีรีเฟรชเรทที่สูงกว่าหน้าจอ PMOLED มากๆ
POLED (Plastic organic light-emitting diode)
หน้าจอ OLED ปกติจะใช้กระจกเป็น Substrate มีข้อดีคือแข็งแรง ราคาถูก ทนความร้อนได้ดี แต่เมื่อมีความต้องการหน้าจอ OLED ที่สามารถบิดงอ เปลี่ยนรูปได้ จึงมีไอเดียนำพลาสติกมาใช้เป็น Substrate แทน ซึ่งก็มีความท้าทายในการผลิตคือการทนความร้อนที่น้อยกว่าของพลาสติก แต่ก็จะได้จอที่สามารถบิด งอ เปลี่ยนรูปร่างได้ และบางกว่าอีกด้วย
Super AMOLED
เป็นเครื่องหมายทางการค้าของ Samsung หมายถึงหน้าจอ OLED แบบ Active matrix ที่มีการรวมแผงวงจรการทัชสกรีนเข้าไปกับโมดูลหน้าจอเป็นชิ้นเดียวกัน ทำให้ได้หน้าจอที่บางกว่า และสามารถติดตั้งได้ชิดกระจกมากกว่า ซึ่งเครื่องหมายการค้าหน้าจอ OLED ของ Samsung ยังมีอีกหลายชื่อ เช่น Super AMOLED Plus, Dynamic AMOLED, Dynamic AMOLED 2X เป็นต้น

การจัดเรียงพิกเซลแบบ Pentile
ในหน้าจอแบบ OLED มักใช้การจัดเรียงพิกเซลแบบ Pentile ซึ่งถูกนำเสนอครั้งแรกใน Samsung Galaxy S3 การจัดเรียงพิกเซลแบบปกติจะเป็นการจัดเรียงแบบ แดง-เขียว-น้ำเงิน ต่อกันไปเรื่อยๆ แต่ในแบบ Pentile จะมีการลดขนาดของพิกเซลสีเขียว แต่เพิ่มจำนวนสีเขียวให้มากกว่าสองสีที่เหลือ ทำให้ลดความหนาแน่นของพิกเซลในขณะที่ได้ความละเอียดสูง และที่สำคัญคือช่วยยืดอายุการใช้งานของพิกเซลสีฟ้า ซึ่งเป็นพิกเซลที่มีความสามารถในการส่องแสงได้น้อยที่สุด ต้องใช้พลังงานมากที่สุด ทำให้มีอายุสั้นที่สุดด้วย แต่การจัดเรียงพิกเซลแบบนี้ก็โดนข้อครหาเรื่องความหนาแน่นของพิกเซลที่น้อยกว่าหารจัดเรียงแบบ RGB ปกติเมื่อเทียบกับหน้าจอที่มีความละเอียดเท่ากัน

ในสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ๆ เช่น iPhone X ได้มีการใช้หน้าจอที่จัดเรียงแบบ Diamond pentile ดังรูป

การประยุกต์ใช้หน้าจอแบบ OLED
ด้วยความสามารถทั้งเรื่องความบาง สามารถบิดงอได้ และสามารถเลือกเปิดปิดพิกเซลหน้าจอได้อย่างอิสระ ทำให้มันถูกนำไปประยุกต์ใช้กับฟีเจอร์หลายๆ อย่างบนสมาร์ทโฟน
Always On Display
ด้วยความสามารถที่สามารถเปิดปิดแต่ละพิกเซลได้อย่างอิสระ จึงนำไปประยุกต์เป็นฟีเจอร์แสดงนาฬิกาและการแจ้งเตือนบนหน้าจอสมาร์ทโฟนแบบที่ติดค้างตลอดเวลา

หน้าจอโค้ง
และด้วยความสามารถบิดงอได้ จึงมีการออกแบบสมาร์ทโฟนที่มีหน้าจอขอบโค้งออกมา

หน้าจอพับได้, ม้วนได้
และด้วยความบางรวมถึงความสามารถในการบิดงอ จึงถูกนำไปพัฒนาเป็นสมาร์ทโฟนรูปแบบใหม่ๆ เช่น หน้าจอพับได้ และ หน้าจอม้วนได้

เซ็นเซอร์ในหน้าจอ
ด้วยความบางจนแสงสามารถส่องทะลุผ่านได้ จึงมีการนำเซ็นเซอร์ต่างๆ ไปซ่อนไว้ใต้หน้าจอ OLED โดยที่เห็นได้ชัดที่สุดคือเซ็นเซอร์สแกนลายนิ้วมือ

รวมสิ่งที่คนมักเข้าใจผิดเกี่ยวกับจอ OLED
- หลายคนเข้าใจว่าหน้าจอ OLED และ AMOLED เป็นหน้าจอคนละชนิดกัน หน้าจอ AMOLED นั้นก็คือหน้าจอ OLED แบบ Active Matrix แต่จอ OLED ที่ใช้ในสมาร์ทโฟนเป็น Active Matrix กันหมดแล้ว ดังนั้นหากจะบอกว่าหน้าจอ OLED ในสมาร์ทโฟนคือหน้าจอ AMOLED ทั้งหมดก็ว่าได้
จอเบิร์น – Screen burn in
เป็นอาการเสื่อมสภาพของหน้าจอทำให้มีภาพค้างเป็นเงาลางๆ แม้จะเปลี่ยนไปหน้าจออื่นแล้ว อาการนี้พบได้ทั้งจอ LCD และ OLED แต่ด้วยการพัฒนาทางเทคโนโลยีทำให้ไม่อาการนี้บนหน้าจอ LCD แล้ว แต่บนหน้าจอ OLED ยังมีอยู่

วิธีป้องกันหน้าจอเบิร์น
- ลดความสว่างหน้าจอ ไม่ใช้หน้าจอสว่างเกินความจำเป็น
- ใช้งาน Dark mode และวอลเปเปอร์สีดำ เพราะการเปิดสีดำบนหน้าจอ OLED คือการปิดพิกเซลนั้น ช่วยลดความเสี่ยงของหน้าจอเบิร์นได้
- ไม่เปิดภาพเดิมค้างไว้เป็นเวลานานๆ
- ปิดหน้าจอเมื่อไม่ใช้
วิธีแก้ปัญหาหน้าจอเบิร์น
- เปลี่ยนไปใช้งานหน้าจออื่น หรือปิดหน้าจอสักพัก อาการอาจจะหายไปเอง
- ใช้แอปแก้อาการหน้าจอเบิร์น สามารถดาวน์โหลดแอปได้จาก Google Play และ App Store ได้เลย แอปเหล่านี้จะเล่นภาพที่มีสีสันหลากหลายเพื่อช่วยแก้อาการหน้าจอเบิร์น
- เปลี่ยนหน้าจอ หากทดลองทั้ง 2 วิธีแล้วยังไม่หาย จำเป็นต้องเปลี่ยนหน้าจอใหม่
เปรียบเทียบจอ LCD และ OLED
LCD | OLED | |
---|---|---|
Static Contrast Ratio | 150 – 6,600:1 | Infinity:1 (ไม่สามารถคำนวณได้เนื่องจากแสดงสีดำได้ดำสนิท) |
Peak Luminosity | 200-4,000 cd/m2 | 100-700 cd/m2 |
Color depth | 6 – 10 bit/subpixel | 8 – 10 bit/subpixel (หน้าจอ HDR บางรุ่นสามารถได้ถึง 12 bit) |
Response time | 1-8 ms | 0.01-0.001 |
Refresh rate | 60-360Hz | 60-120Hz (รุ่นใหม่ๆ เริ่มทำได้เกิน 120Hz แล้ว) |
การกะพริบ | น้อยมาก และมีรุ่นไร้การกะพริบให้เลือก | กะพริบเมื่อเปิดแสงต่ำ สมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ๆ แก้ได้แลกกับการแสดงสีที่อาจผิดเพี้ยน |
การ Burn-in | ต่ำ | ปานกลาง |
การใช้พลังงาน | ต่ำ | ขึ้นอยู่กับการแสดงผล สีขาวล้วนกินมากกว่า LCD เล็กน้อย สีกำล้วนประหยัดกว่า LCD มากๆ |
- หน้าจอ OLED เบากว่า บางกว่า จอ LCD และสามารถทำโค้งหรือบิดงอได้
- หน้าจอ OLED สามารถซ่อนเซนเซอร์ลายนิ้วมือ เซนเซอร์ต่างๆ รวมถึงกล้องหน้าไว้ใต้หน้าจอได้
- OLED ให้คุณภาพของภาพที่ดีกว่าจาก Contrast ratio ที่สูงกว่า สามารถแสดงผลสีดำที่ดำสนิทได้
- หน้าจอ OLED แสดงผลสีได้เที่ยงตรงและเปลี่ยนน้อยกว่าแม้ไม่ได้มองมุมตรง
- หน้าจอ OLED ใช้พลังงานน้อยกว่าหน้าจอ LCD
- หน้าจอ OLED ตอบสนองรวดเร็วกว่าหน้าจอ LCD ลดปัญหาภาพเป็นเงาเวลาแสดงผลการเคลื่อนไหวเร็วๆ
- หน้าจอ OLED อาจเกิดการกะพริบเมื่อลดแสงหน้าจอ ทำให้เกิดอาการตาล้าสำหรับบางคน ซึ่งการแก้ไขทำให้การแสดงผลสีมีความผิดเพี้ยน
- หน้าจอ OLED มีอายุการใช้งานที่สั้นกว่าหน้าจอ LCD และสามารถเกิดอาการ Burn in ได้ง่ายกว่า
- เนื่องจากแต่ละพิกเซลของ OLED อาจเสื่อมด้วยเวลาไม่เท่ากัน เมื่อใช้งานนานๆ จนจอเกิดอาการเสื่อมอาจทำให้การแสดงผลของสีสันผิดเพี้ยน
- ตามทฤษฎีแล้วหน้าจอ OLED มีความสามารถในการสู้แสงแดดที่น้อยกว่าหน้าจอ LCD แต่ด้วยเทคโนโลยีหลายๆ อย่างทำให้หน้าจอ OLED ในปัจจุบันสามารถใช้งานกลางแจ้งได้ดีกว่าหน้าจอ LCD
- การดูเพียงแค่ชนิดหน้าจอไม่สามารถฟันธงได้ว่าหน้าจอของรุ่นไหนสามารถแสดงสีสันได้ดีกว่า เที่ยงตรงกว่า หรือสว่างกว่า ขึ้นอยู่กับคุณภาพของหน้าจอที่ใช้ และการปรับจูนจากโรงงานด้วย
