เวลาเราดูสเปคมือถือที่สามารถกันน้ำได้ เรามักจะเห็นสเปคที่เขียนไว้ว่า ผ่านมาตรฐานกันน้ำ IP65, IP67, IPX5 จนถึง IP65/67 ก็มี เห็นแล้วก็งงทำไมมันมีหลายรูปแบบเหลือเกิน วันนี้ผมจะมาอธิบายให้ทุกท่านเข้าใจว่าเจ้า IP Rating คืออะไร ตัวเลขแต่ละหลักหมายความว่าอย่างไร และ IP68 ที่เราเห็นกันบ่อยๆ หมายถึงอะไร
IP ย่อมาจาก Ingress Protection เป็นมาตรฐานสากลที่บ่งบอกถึงประสิทธิภาพในการป้องกันไม่ให้ของเหลวและของแข็งเข้าไปทำลายอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์
ตัวมาตรฐานจะขึ้นต้นด้วย IP ตามด้วยเลข 2 หลัก เช่น IP65, IP67 เป็นต้น

ตัวเลขหลักแรก ของแข็ง
ตัวเลขหลักแรกหมายถึงการป้องกันของแข็งต่างๆ เช่น ฝุ่น เศษดินเศษทราย เป็นต้น โดยแต่ละตัวเลขมีความหมายดังนี้
ระดับ | รายละเอียด |
---|---|
X | ไม่มีข้อมูล อาจจะเพราะไม่ได้ทดสอบ |
0 | ไม่มีการป้องกันใดๆ |
1 | สามารถป้องกันจากวัตถุที่มีขนาด 50 มม. ขึ้นไป เช่น ฝ่ามือมนุษย์ |
2 | สามารถป้องกันจากวัตถุที่มีขนาด 12.5 มม. ขึ้นไป เช่น นิ้วมือ |
3 | สามารถป้องกันจากวัตถุที่มีขนาด 2.5 มม. ขึ้นไป เช่น ไขควง, สายไฟเส้นหนาๆ |
4 | สามารถป้องกันจากวัตถุที่มีขนาด 1 มม. ขึ้นไป เช่น สายไฟส่วนใหญ่, ไขควงขนาดเล็ก, มดตัวใหญ่ |
5 | สามารถปกป้องจากฝุ่น ไม่ถึงขนาดฝุ่นไม่เข้าเลย แต่ป้องกันได้มากพอที่จะไม่เข้าไปสร้างปัญหาในการทำงาน |
6 | ป้องกันจากฝุ่นได้อย่างสมบูรณ์ การทดสอบจะใช้เวลาสูงสุด 8 ชม. ขึ้นอยู่กับรูปแบบของลม |
ตัวเลขหลักที่สอง ของเหลว
ตัวเลขหลักแรกหมายถึงการป้องกันจากของเหลว ซึ่งมีทั้งการฉีดใส่ การจุ่ม แล้วแต่กรณีไป โดยแต่ละตัวเลขมีความหมายดังนี้
ระดับ | รายละเอียด |
---|---|
X | ไม่มีข้อมูล อาจจะเพราะไม่ได้ทดสอบ |
0 | ไม่มีการป้องกันใดๆ |
1 | ป้องกันจากน้ำหยด |
2 | ป้องกันจากน้ำหยดเมื่อถูกติดตั้งทำมุม 15 องศาจากการติดตั้งปกติ |
3 | ป้องกันจากละอองน้ำ |
4 | ป้องกันจากการถูกน้ำกระเซ็นใส่ |
5 | ป้องกันจากการถูกฉีดน้ำแรงดันต่ำใส่เป็นเวลาอย่างน้อย 3 นาที |
6 | ป้องกันจากการถูกฉีดน้ำแรงดันสูงใส่เป็นเวลาอย่างน้อย 3 นาที |
6K | ป้องกันจากการถูกฉีดน้ำแรงดันสูงที่เพิ่มแรงดันได้ใส่เป็นเวลาอย่างน้อย 3 นาที |
7 | สามารถนำลงไปในน้ำที่ความลึกไม่เกิน 1 ม. เป็นเวลาไม่เกิน 30 นาที |
8 | สามารถนำลงไปในน้ำที่ความลึก 1 ม. หรือมากกว่า โดยความลึกและระยะเวลาแล้วแต่ผู้ผลิตตกลงกับผู้ทดสอบ |
9K | ป้องกันจากการถูกฉีดน้ำแรงดันสูงที่มีอุณหภูมิสูงใส่ เป็นเวลาอย่างน้อย 3 นาที |
มาตรฐานที่พบเห็นบ่อย
- IPX3 และ IPX4 มักจะเห็นในหูฟังสำหรับออกกำลังกาย ที่สามารถป้องกันเหงื่อได้
- IPX5 และ IP65 มักจะเห็นในหูฟังและมือถือที่สามารถกันน้ำได้ สามารถใช้งานกลางฝนได้
- IP67 และ IP68 มักจะเห็นในมือถือที่สามารถนำจุ่มลงในน้ำได้
IP68 หมายถึงอะไร
มือถือปัจจุบันมักผ่านมาตรฐานกันน้ำ IP68 หมายถึง สามารถกันฝุ่นได้สมบูรณ์ กันน้ำที่ความลึกอย่างน้อย 1 เมตร ระยะเวลาแล้วแต่จะตกลงกับผู้ทดสอบ หมายความว่าแต่ละรุ่นก็อาจจะกันน้ำไม่เท่ากัน โดยมาตรฐานมักจะอยุ่ที่ 1.5 ม. เป็นเวลา 30 นาที แต่รุ่นล่าสุดอย่าง iPhone 12 สามารถกันน้ำได้ลึกถึง 6 เมตร เป็นเวลา 30 นาทีทีเดียว

กันน้ำได้แต่ไม่ใช่น้ำทุกชนิด
หลายคนมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับมือถือกันน้ำว่าสามารถกันน้ำได้ทุกชนิด ซึ่งไม่เป็นความจริง เพราะมาตรฐานการกันน้ำเหล่านี้ถูกทดสอบด้วยน้ำสะอาดทั่วไป หากนำไปใช้งานกับน้ำชนิดอื่นๆ น้ำเหล่านั้นอาจสร้างความเสียหายให้กับซีลกันน้ำ และทำให้น้ำเข้าได้ โดยน้ำที่ควรหลีกเลี่ยงคือ น้ำทะเล น้ำสบู่ สารเคมีที่อยู่ในรูปของเหลว น้ำผลไม้ น้ำผสมคลอรีน หากอุปกรณ์บังเอิญสัมผัสกับน้ำที่ไม่ใช่น้ำสะอาด ให้ล้างอุปกรณ์ของคุณด้วยน้ำสะอาดเสมอ
มือถือกันน้ำ เอาลงทะเลได้ไหม
มือถือกันน้ำถูกทดสอบโดยน้ำสะอาด ไม่แนะนำให้เอาลงทะเลโดยเด็ดขาด เพราะคุณสมบัติของน้ำทะเลนั้นแตกต่างจากน้ำสะอาดมาก อาจทำให้มือถือเสียหายทั้งในระยะสั้นและระยะยาวได้
ตัวเลขมากกว่าไม่ได้ดีกว่า และไม่ได้หมายความว่าผ่านการทดสอบของตัวเลขน้อยกว่า
หลายคนมีความเข้าใจผิดว่ามาตรฐานตัวเลขมากหมายถึงดีกว่า จะเห็นว่ามาตรฐานการกันน้ำจะแบ่งเป็น 2 แบบ คือ การป้องกันการฉีดน้ำใส่ และ การจุ่มลงในน้ำ ซึ่งมีความต่างกันโดยสิ้นเชิง มือถือที่ผ่านมาตรฐาน IP67 หากโดนฉีดน้ำใส่ น้ำก็อาจจะเข้าได้ มือถือที่ผ่านมาตรฐาน IP65 หากนำไปจุ่มน้ำ น้ำก็อาจจะเข้าได้เช่นกัน นั่นเป็นเหตุผลว่ามือถือบางรุ่นถึงผ่านมาตรฐาน IP65/67 นั่นคือเขาทดสอบทั้งการจุ่มน้ำและการฉีดน้ำใส่
การกันน้ำมีอายุการใช้งาน แม้กันได้แต่ไม่แนะนำ
การกันน้ำเหล่านี้ไม่ได้สามารถกันได้อย่างถาวร โดยเฉพาะในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ชิ้นเล็กๆ อย่างมือถือและหูฟังที่ใช้ซีลกาวในการประกอบ เมื่อผ่านการใช้งานบวกกับความร้อนจากอุปกรณ์ทำให้ซีลเหล่านี้เสื่อมสภาพได้ และทำให้น้ำเข้าในที่สุด ดังนั้นแม้มือถือจะกันน้ำได้แต่ก็ควรมีความระมัดระวังในการใช้เช่นกันครับ
ลำโพงและไมโครโฟนอาจใช้ไม่ได้ชั่วคราวเมื่อโดนน้ำ
เมื่อไมโครโฟนและลำโพงของมือถือโดนน้ำ จะใช้งานไม่ได้ชั่วคราว วิธีแก้คือรอให้แห้งจะกลับมาใช้งานได้อีกครั้งตามปกติ

การดูแลรักษาเมื่อมือถือเปียกน้ำ
- หากโดนน้ำที่ไม่สะอาดมา ให้ล้างด้วยน้ำสะอาด (ห้ามใช้สารเคมีใดๆ ในการล้าง)
- รอให้เครื่องแห้งสนิทก่อนนำไปชาร์จไฟ
- ห้ามใช้ไดร์เป่าผมเป่าให้เครื่องแห้ง